นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับรายงานจากธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ว่า มีข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงินของลูกค้าบางส่วนหลุดไปยังภายนอก โดยกรณีของธนาคารกสิกรไทย เป็นข้อมูลลูกค้านิติบุคคลที่เป็นข้อมูลสาธารณะซึ่งหาได้ทั่วไป ส่วนของธนาคารกรุงไทย ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลคำขอสินเชื่อของลูกค้ารายย่อยและนิติบุคคลบางส่วน
หลังจากธนาคารทั้ง 2 แห่งตรวจพบปัญหาก็ได้เร่งตรวจสอบทันที ซึ่งพบว่ายังไม่มีลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย และข้อมูลที่หลุดออกไปไม่ใช่ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน โดยธนาคารทั้ง 2 แห่งได้ดำเนินการปิดช่องโหว่ของระบบดังกล่าว และได้ตรวจสอบระบบงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาประเมินทุกระบบงาน เพื่อให้มั่นใจว่าการป้องกันครอบคลุมระบบงานและฐานข้อมูลทั้งหมด
นายรณดล กล่าวว่า ธปท.ได้สั่งการและกำชับให้ธนาคารทั้ง 2 แห่ง ยกระดับมาตรการป้องกันภัยทางไซเบอร์อย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น และดูแลไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งสื่อสารให้ลูกค้าที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้รับทราบ ทั้งนี้ ธปท.ได้กำชับให้ธนาคารทั้ง 2 แห่งเตรียมมาตรการเยียวยาลูกค้า หากเกิดความเสียหาย รวมทั้งได้แจ้งสถาบันการเงินทุกแห่งปิดช่องโหว่ดังกล่าวและเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษด้วย
ทั้งนี้ เหตุการณ์ข้างต้นถือเป็นภัยทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับองค์กรและสถาบันการเงินทั่วโลก ธปท. ตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้ทำงานร่วมกับผู้กำกับดูแลในภาคการเงินอย่างใกล้ชิด และสั่งการให้สถาบันการเงินยกระดับการรับมือภัยไซเบอร์ ทั้งด้านการเพิ่มมาตรการป้องกันภัยให้รัดกุมเท่าทันกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นด้วยการใช้เครื่องมือช่วยตรวจจับรายการผิดปกติ โดยหากเกิดเหตุการณ์ภัยไซเบอร์ขึ้น สถาบันการเงินจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และดูแลรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าไม่ให้เสียหาย เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้บริการกับสถาบันการเงิน
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารพบว่ามีข้อมูลรายชื่อลูกค้าองค์กรของธนาคารประมาณ 3,000 รายที่ใช้เว็บที่ให้บริการหนังสือค้ำประกันอาจหลุดออกไปภายนอก ซึ่งเมื่อธนาคารทราบเรื่องได้ดำเนินการปิดช่องโหว่ทันที และได้เพิ่มระดับการเฝ้าระวังและป้องกันให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อมูลรั่วไหลอีก
สำหรับข้อมูลที่อาจจะหลุดไปเป็นข้อมูลสาธารณะทั่วไปเฉพาะของลูกค้าที่ใช้บริการหนังสือค้ำประกันผ่านช่องทางเว็บเท่านั้น อาทิ ชื่อบริษัท หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลสำคัญด้านธุรกรรมหรือการเงินของลูกค้า จึงไม่น่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงโจรกรรมได้ และจากการตรวจสอบยังไม่พบว่าเกิดความเสียหายกับลูกค้ารายใด อย่างไรก็ตามธนาคารจะยังเฝ้าระวังความผิดปกติของบัญชีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุเบื้องต้นน่าจะเกิดจากกลุ่มแฮกเกอร์ที่มีความพยายามที่จะเจาะเข้าระบบของหน่วยงานต่าง ๆ มาตลอด ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ธนาคารฯ ได้รายงานให้ ธปท.ได้รับทราบแล้ว ทั้งนี้ ธนาคารมีแผนจะแจ้งให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทราบเป็นรายองค์กร หากลูกค้าตรวจพบความผิดปกติของธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ธนาคารพร้อมรับผิดชอบและให้ความช่วยเหลือ
ขณะที่ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบระบบ IT เป็นประจำ ทำให้ธนาคารพบว่าในช่วงก่อนวันหยุดยาวต่อเนื่องปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ข้อมูลเบื้องต้นของลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลคำขอสินเชื่อพื้นฐานลูกค้ารายย่อยที่สมัครสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ ถูกแฮกด้วยเทคนิคชั้นสูงจากระบบของธนาคาร ซึ่งผลจากการตรวจพบควบคู่กับมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันข้อมูลลูกค้าอย่างทันท่วงที ทำให้ธนาคารสามารถหยุดการรั่วไหลของข้อมูลได้ในวงจำกัด และไม่มีความเสียหายทางการเงินแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลของลูกค้าที่ถูกแฮกส่วนใหญ่เป็นข้อมูลคำขอสินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่สมัครสินเชื่อที่อยู่อาศัย สมัครสินเชื่อกรุงไทย Supper Easy ผ่านทางช่องออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 1.2 แสนราย โดยในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลประมาณ 3 พันราย ซึ่งธนาคารขอยืนยันว่าไม่พบความเสียหายทางการเงินใดๆในบัญชีของลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ ธนาคารจะติดต่อกับลูกค้ากลุ่มดังกล่าวโดยตรง เพื่อแจ้งให้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการป้องกันความเสี่ยง
ขณะเดียวกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ธนาคารได้ร่วมมือกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน Cyber Security & Digital Forensics ดำเนินการตรวจสอบและยกระดับการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลลูกค้าทั้งหมดของธนาคารโดยทันที เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลของลูกค้าทุกกลุ่มมีความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งธนาคารได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อ ธปท.เรียบร้อยแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ กำลังร่วมกันตรวจสอบเหตุการณ์เชิงลึกในครั้งนี้
นายผยง กล่าวต่อไปว่า ขอให้ลูกค้าของธนาคารมั่นใจว่า ธนาคารมีกระบวนการติดตามและตรวจสอบในเชิงรุก เพื่อดูแลข้อมูลของลูกค้าในระบบของธนาคารเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยอมรับว่าความสามารถของแฮกเกอร์ที่สูงขึ้น ถือเป็นความท้าทายที่ธนาคารจะต้องพัฒนาปรับปรุงระบบ Cyber Security อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำงานในยุคดิจิตัล