ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ย.เท่ากับ 82.3 จาก 81.9 ใน ต.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 18, 2007 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.50 ปรับตัวดีขึ้น โดยอยู่ในระดับสูงสุดรอบ 6 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการเชื่อความชัดเจนทางการเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นระดับความเชื่อมั่นได้เร็วและมากที่สุด
"ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 82.3 จาก 81.9 ในเดือนตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา ดัชนีฯในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน" นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท.ระบุในเอกสารเผยแพร่
ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากความหวังในการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นจากการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ ทำให้คาดว่ายอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศจะดีขึ้น นอกจากนี้ภาวะตลาดส่งออกที่สำคัญ(ยกเว้นสหรัฐอเมริกา) ยังขยายตัวดี โดยเฉพาะตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง จีน ออสเตรเลีย อินเดีย เวียดนาม ทำให้คาดว่ายอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศยังจะไปได้ดี ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการไม่ได้ปรับเพิ่มสูงขึ้น แม้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงปริมาณการผลิตปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากถูกกระทบจากราคาน้ำมันและราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้กดดันให้ผู้ประกอบการเริ่มมีการขยับขึ้นราคาขายบางส่วนแล้ว
ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์เท่ากับ 93.5 ซึ่งลดลงจากเดือน ต.ค.ที่มีค่าเท่ากับ 96.1 แสดงถึงความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน ของผู้ประกอบการต่อภาพรวมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มดีขึ้นจากเดือน พ.ย.50 แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากภาพการเมืองที่ยังไม่ชัดเจนที่มีผลต่อนโยบายต่างๆ ที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
"ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ฯ อ่อนตัวลงมา ซึ่งถูกกระทบจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับยอดขายในประเทศใน 3 เดือนข้างหน้าที่คาดว่าจะฟื้นตัวไม่แข็งแกร่งนัก เนื่องจากยังไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ส่งผลต่อเนื่องถึงความเชื่อมั่นในการผลิต อีกทั้งผลประกอบการยังอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการที่อาจปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงด้านราคาน้ำมันที่ผันผวนในทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น" นายสันติ กล่าว
ส่วนสภาพแวดล้อมภายนอกกิจการ ผู้ประกอบการต่างเชื่อมั่นต่อปัจจัยต่างๆ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ ราคาน้ำมัน เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุด เศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทจะกระทบน้อยลง ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศจะยังไม่ส่งผลกระทบในช่วง 3 เดือนนี้ และการเมืองจะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ทั้งนี้ปัจจัยที่จะฟื้นระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมได้เร็วและมากที่สุด คือ ความชัดเจนเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง
ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐปรับลดราคาค่าน้ำมัน สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายพลังงานในระยะยาว ดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมและโปร่งใส กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เร่งสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนเพื่อที่จะดึงดูดนักลงจากต่างประเทศให้มาลงทุนที่ประเทศไทย ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และราคาค่าขนส่ง เร่งพัฒนาผลิตบุคคลากรตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมนโยบายการใช้แรงงานต่างด้าว ลดอัตราดอกเบี้ยลง เร่งแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ และช่วยเหลือ SMEs อย่างจริงจัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ