รมว.คลัง แนะใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถ-ลดความเหลื่อมล้ำ ดันไทยหลุดพ้นความยากจน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 1, 2018 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) (FPO Symposiun 2018 ) ในหัวข้อ "นโยบายการคลังในยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง" ว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัล ดังนั้นนโยบายการคลังก็ต้องเดินควบคู่ไปให้ได้และรองรับการเติบโตในอนาคตได้ด้วย โดยกระทรวงคลังมองภาพเศรษฐกิจในระยะยาว จึงได้ดำเนินการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ รวมทั้งออกแบบโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคตดังกล่าวด้วย

"เราพิจารณาแล้วเชื่อว่าใน 10 อุตสาหกรรมใหม่นี้ เรามีความได้เปรียบและจะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้เป็นอย่างดี โดยการออกแบบในส่วนต่าง ๆ นี้ ก็มีส่วนสำคัญมาจาก สศค. ที่ช่วยผลักดันภาพการแข่งขันของประเทศ เป็นเครื่องยนต์ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในอนาคต" นายอภิศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังได้เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการเงินของประเทศ โดยร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สร้างระบบ National e-Payment โดยอาศัยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีข้อดีคือสามารถโอนเงินผ่านระบบโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนในระบบดังกล่าวแล้ว 40 ล้านบัญชี จากประชาชนทั้งประเทศกว่า 70 ล้านคน และระบบสถาบันการเงินก็เข้ามาใช้ระบบพร้อมเพย์เช่นกัน รวมทั้งยังมีการพัฒนาระบบคิวร์อาร์โค้ด ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการใช้ระบบดังกล่าว

"ไม่เพียงประสิทธิภาพการชำระเงินของประเทศจะถูกยกระดับให้ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการลดปัญหาการคอร์รัปชั่นได้อีกด้วย เพราะทุกอย่างต้องจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และในอนาคตกระทรวงการคลังจะพัฒนาระบบ Payment ที่ครอบคลุมถึงการจ่ายภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยข้อมูลการชำระเงินทั้งหมดจะถูกส่งไปที่กรมสรรพากร โดยการเชื่อมโยงข้อมูลในส่วนนี้ ถือเป็นเจตนาดีของรัฐบาล จึงไม่ถูกเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลของผู้ใช้ เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายนำไปใช้เพื่อหาผลประโยชน์แต่อย่างใด"รมว.คลัง กล่าว

นอกจากนี้ เป้าหมายของกระทรวงการคลังไม่ใช่เพียงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ใหญ่ขึ้น สูงขึ้นและดีขึ้นเท่านั้น แต่ต้องการให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น ก็ต้องมาพิจารณาเรื่องการเพิ่มกำลังการใช้จ่าย การกระจายความมั่นคงสู่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยขณะนี้กำลังดำเนินสวัสดิการระยะที่ 2 โดยให้ผู้มีรายได้น้อยมาฝึกอาชีพ ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนเพื่อฝึกอาชีพ 8 ล้านคน แต่มีผู้พร้อมพัฒนาตนเองเพียง 4 ล้านคน ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะหากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า ใน 4 ล้านคนจะกลายเป็นคนที่พ้นจน คิดเป็น 30-40% ของผู้มีรายได้น้อย เรื่องนี้เป็นอีกเป้าหมายที่สำคัญของรัฐบาล โดยในช่วงปลายปีจะมีการวัดผลโครงการว่าสามารถทำให้คนพ้นจนได้เท่าไหร่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อมาช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนฐานราก ขณะเดียวกันได้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และมีผู้ถือบัตรสวัสดิการ จำนวน 11.4 ล้านคน รวมทั้งได้ออกสวัสดิการระยะแรกในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าห่วงที่สุดคือ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีความสามารถแต่ไม่ยอมพัฒนาตนเอง รอเพียงความช่วยเหลือจากรัฐบาลเท่านั้น ตรงนี้จำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิด เพื่อให้พ้นความยากจน

ด้านนายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวถึงความสำคัญของการนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และแนวนโยบายของกระทรวงการคลังในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการดำเนินโครงการ National e-Payment เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของไทยให้รองรับระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การสร้างฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยและสวัสดิการภาครัฐ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม และส่งเสริมภาคเอกชนให้มีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ โดยภาพรวม กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การสร้างและปรับปรุงฐานข้อมูลผู้รับสวัสดิการแห่งรัฐ การเชื่อมฐานข้อมูลระหว่างภาครัฐ และการพัฒนาไปสู่ Big data ควรเพิ่มมิติของข้อมูลให้มากขึ้น เช่น การเชื่อมโยงกับข้อมูลเส้นความยากจน และเพิ่มเติมข้อเสนอการดำเนินงานที่จะประสบความสำเร็จในภาคปฏิบัติได้ โดยระบุให้เห็นภาพชัดเจนว่าหน่วยงานใดควรเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าควรเพิ่มการจัดการกับข้อมูลให้มากขึ้น เช่น การประเมินผล การเชื่อมฐานข้อมูลซึ่งควรมีการตรวจสอบความสม่ำเสมอของข้อมูลร่วมด้วย การวิเคราะห์คุณภาพของข้อมูล การเพิ่มการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของกลไกการระบุกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการใช้ระบบการระบุกลุ่มเป้าหมาย ต้องระวังเรื่องความผิดพลาดจากการคัดกรองผู้มีรายได้น้อยออกไป จึงเห็นว่าอาจใช้ข้อมูลจดทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐเป็นข้อมูลพื้นฐาน มากกว่าใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงในการนำมาใช้ดำเนินนโยบาย

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวว่า นโยบายการคลังการเงินถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และการยกเครื่องข้อมูลผ่านโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การจัดสวัสดิการได้อย่างเหมะสม เพิ่มความสามารถในการหารายได้ของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และจะช่วยให้ภาครัฐสามารถยกคนพ้นจนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ