ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะธปท.พิจารณา 3 ปัจจัยก่อนยกเลิกมาตรการ 30%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 18, 2007 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรพิจารณาถึงปัจจัย 3 ประการก่อนที่จะยกเลิกมาตรการสำรอง 30% คือ จังหวะเวลาที่เหมาะสม การส่งสัญญาณที่ชัดเจนในด้านนโยบาย รวมทั้งมีมาตรการรองรับที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากเงื่อนไขทั้ง 3 ประการนี้ไม่ลงตัวแล้ว การยกเลิกมาตรการกันสำรองก็อาจนำมาสู่ความผันผวนของค่าเงินบาทและส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะภาคการส่งออก เพราะสัดส่วนการส่งออกของไทยขณะนี้ยังมีระดับสูงเกินกว่า 60% ของจีดีพี 
สำหรับจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% น่าจะเกิดขึ้นเมื่อ ธปท.มั่นใจว่าสามารถจะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทไม่ให้ปรับตัวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพียงขาเดียวอย่างรวดเร็ว ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นก่อนใช้มาตรการ และไม่ควรยกเลิกในช่วงที่ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักเพียงทิศทางเดียวและยังคงมีโอกาสทำนิวโลว์อย่างต่อเนื่อง แต่น่าที่จะเป็นในช่วงที่ดอลลาร์ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ธปท.มีความสะดวกในการติดตามดูแลตลาดปริวรรตเงินตราหรือมีต้นทุนที่น้อยลงในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้ปรับตัวอยู่ในกรอบที่มีเสถียรภาพและแข่งขันได้โดยไม่กระทบเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากแรงเก็งกำไรให้เงินบาทแข็งค่าเพียงขาเดียว จะถูกหักล้างโดยความต้องการเงินดอลลาร์ฯ เพื่อการลงทุนและขยายกิจการเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป
นอกจากจังหวะเวลาการยกเลิกมาตรการที่เหมาะสมแล้ว ธปท.ควรจะมีความรอบคอบและระมัดระวังเกี่ยวกับสัญญาณที่จะสื่อออกมาสู่ตลาดหรือนักลงทุนเมื่อมีการประกาศยกเลิกมาตรการด้วย โดยธปท.ควรจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับตลาดว่า การยกเลิกมาตรการนั้นไม่ได้หมายความว่าทางการไทยจะยอมให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างไม่มีขอบเขต
นั่นหมายความว่า ธปท.ยังจะดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ โดยไม่ให้แข็งค่าหรืออ่อนค่าในอัตราที่มากกว่าสกุลเงินในภูมิภาค เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกหรือป้องกันผลกระทบต่อผู้นำเข้า เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดตีความการประกาศยกเลิกมาตรการว่าประเทศไทยเปิดกว้างหรือยอมรับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจนำมาสู่การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในจำนวนที่มากเกินจะรับไหว โดยเฉพาะเงินลงทุนที่เข้ามาเพื่อการเก็งกำไรซึ่งไม่เป็นที่พึงปรารถนามากนัก
ศูนย์วิจัยฯ ยังระบุอีกว่า นอกจากจังหวะเวลาที่เหมาะสมและสัญญาณที่ชัดเจนแล้ว ประเด็นที่มีความสำคัญมากกว่าการพิจารณายกเลิกหรือไม่ยกเลิกมาตรการ อยู่ที่ความพร้อมของทางการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ารับมือกับกระแสความผันผวนของเงินทุนในระบบการเงินโลกที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาทในระยะถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ธปท.ควรจะมีมาตรการรองรับความผันผวนของค่าเงินในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะให้เงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด (อุปสงค์และอุปทาน) ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) พร้อมๆ กับสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ โดยไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไปจนส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่จะมารองรับนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมาตรการในรูปแบบเดียวกันหรือมีความเข้มงวดเท่าๆ กันกับมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะๆ เพื่อให้ค่าเงินบาทใกล้เคียงกับระดับที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐานของประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนให้นักลงทุนนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสมดุลให้กับกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ก็ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ทางการไทยน่าจะสามารถดำเนินการได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ