ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ 82.2 จาก 81.3 ในเดือน มิ.ย.61 โดยปรับตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.1 จาก 67.9 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 77.3 จาก 76.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 100.2 จาก 99.5
"ดัชนีปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้นมาก โดยเรื่องการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องในอนาคต"ศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุ
ปัจจัยบวกมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติคงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% ต่อไปอีก 1 ปี, การส่งออกในเดือน มิ.ย.61 ขยายตัว 8.19%, พืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า
ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว รวมทั้งมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าในต่างประเทศ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนทุกรายการ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้นมาก เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตแตะระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังเห็นว่าราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อในหลายจังหวัดให้ปรับตัวดีขึ้นได้
การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเป็นลำดับอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากปรับตัวลดลงชั่วคราวในช่วง 2 เดือนที่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้บริโภคมีความกังวลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับจิตวิทยา คือ 30 บาท/ลิตร แต่หลังจากที่รัฐบาลส่งสัญญาณตรึงราคาน้ำมันไม่ให้สูงเกินกว่า 30 บาท/ลิตร ประกอบกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง และพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
"ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 62 เดือน จะทำให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในอนาคต และจะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัด และหนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 4.5%" นายธนวรรธน์กล่าว
นอกจากนี้ ในการสำรวจภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภค ยังพบว่าดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ บ้านใหม่ และการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวได้ปรับตัวสูงขึ้นทุกรายการจากเดือน มิ.ย.61 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจต่อรายได้ในอนาคตว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะนำเงินไปใช้จ่ายในการซื้อบ้านใหม่ และรถยนต์ใหม่ในอนาคต หรือช่วงประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้
ขณะที่การสำรวจภาวะทางสังคมของผู้บริโภค พบว่า ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 21 เดือนนับตั้งแต่ ก.ย.59 และดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต ปรับตัวขึ้นไปใกล้เคียงระดับ 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมองสถานการณ์ทางการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพดีขึ้นในอนาคต จากการที่เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งได้ในปี 62
"จากการสำรวจจะพบว่าภาวะค่าครองชีพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนเชื่อว่ารายได้ในกระเป๋าจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ในขณะที่ดัชนีความสุขปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี และดัชนีความคิดเห็นทางการเมืองก็ดีขึ้น ซึ่งเป็นเพราะประชาชนมองว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และคาดว่าจะเข้าสู่การเลือกตั้งได้แน่นอนในปี 62" นายธนวรรธน์ กล่าว