(เพิ่มเติม) สภาผู้ส่งออกฯ เชื่อมีลุ้นส่งออกปีนี้โตได้ถึง 9% จากเป้าเดิม 8% หวังสงครามการค้าเอื้อประโยชน์-บาทไม่ผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 2, 2018 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าว่า สรท.คาดการณ์มูลค่าการส่งออกไทยในปี 61 เติบโต 8-9% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (บวก/ลบ 0.5) บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 ส.ค.61 ที่ 33.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) หลังจากการส่งออกในเดือน มิ.ย.ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สรท.วางเป้าการส่งออกไทยในปีนี้เติบโต 8% แต่ได้ปรับสมมติฐานค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 33 บาท/ดอลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ทางสภาผู้ส่งออกฯ ยังไม่มั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวถึง 10% ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้หรือไม่ แม้สถานการณ์การส่งออกในเดือน มิ.ย.จะขยายตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 แล้วก็ตาม เนื่องจากยังมีความกังวลในเรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าระลอกใหม่ และทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน

"สภาผู้ส่งออก ยังมีข้อห่วงใยที่ทำให้ไม่มั่นใจว่า การส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 10% อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ โดยยังคงคาดการณ์การส่งออกปีนี้จะเติบโต 8-9%"นางสาวกัณญภัค กล่าว

หากจะให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ 8% การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 21,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าจะให้ขยายตัว 9% จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถ้าจะให้ขยายตัว 10% จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท.กล่าวว่า แม้ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทจะมีทิศทางอ่อนค่าซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกก็ตาม แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยมีขนาดเล็กที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกได้ ปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจึงยังไม่น่าไว้วางใจและเป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกต้องทำประกันความเสี่ยงป้องกันความเสียหายไว้

สำหรับสถานการณ์อัตราค่าระวางในขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายเส้นทางสำคัญเนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลส่งออก โดยเฉพาะในเส้นทางยุโรปและสหรัฐ

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกฯ รายงานภาวะการส่งออกของเดือน มิ.ย.61 มีมูลค่า 21,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ที่ระดับ 8.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 694,113 ล้านบาท ขยายตัว 0.8% ขณะที่ การนำเข้ามีมูลค่า 20,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.8% และในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 652,583 ล้านบาท ขยายตัว 3.4% ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,579 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 41,530 ล้านบาท

"การส่งออกของไทยยังสามารถกระจายการขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาดสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดหลัก, ตลาดรอง และตลาดศักยภาพ อาทิ สหภาพยุโรป(15), ญี่ปุ่น, จีน, อินเดีย และ CLMV โดยเฉพาะ ตลาดสหรัฐอเมริกา ที่มีการขยายตัวสูงสุดในประวัติการณ์ ถึงแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากสงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมา จากความกังวลถึงการส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน"สรท.ระบุ

ปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้เติบโตได้ ประกอบด้วย 1) อุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะตลาดศักยภาพสูง สอดคล้องกับภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าน้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้

2) การขาดดุลการค้าจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบอย่างต่อเนื่องอันแสดงถึงการลงทุนของภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต 3) ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก ไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ระดับ 66.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.5 ในเดือนที่ผ่านมา แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีต่อภาคการส่งออกของไทย

4) การส่งออกของไทยมีแนวโน้มกระจายตลาดการส่งออกในตลาดใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้ากับคู่ค้าหลัก 5) ผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์สงครามการค้า ที่ไทยเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ไปทดแทนกลุ่มสินค้าที่มีการดำเนินการกีดกันการค้า (โดยเฉพาะกลุ่มเหล็ก และอลูมิเนียม) ทำให้ในเดือนมิถุนายน มูลค่าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ มีการขยายตัวในระดับสูง 6) แนวโน้มทิศทางการอ่อนค่าลงของเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลาร์สหรัฐฯ เป็นการเพิ่มความความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและเป็นการเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการไทยในรูปเงินบาท และ 7)นโยบายผลักดันการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce ของภาครัฐ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร

ขณะที่ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ประกอบด้วย 1) มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 201 –Safeguard Measure ที่ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และแผงโซลาเซล ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในภาพรวม ไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ลบกับภาคการส่งออกไทยมากนัก แต่ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยยังควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

2) ความผันผวนของตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) กลับไปยังสหรัฐฯ อันจะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่ผู้ส่งออกไทยควรจับตามองและทำประกันความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ

3) ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันและราคาแก็สหุงต้มปรับตัวขึ้นอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น อีกทั้งยังกระทบต่อความสามารถในการบริโภคของอุปสงค์ภายในประเทศ อันส่งผลต่อผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม

4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อผลิต เผชิญปัญหาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

5) สินค้าเกษตรบางรายการยังคงเผชิญสภาวะราคาตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ล่าสุด อินโดนีเซีย ละเมิดข้อตกลงการควบคุมปริมาณการกรีดยาง ทำให้ราคาตกเพราะอุปทานล้นตลาด ประกอบกับ สินค้าทุเรียนและลำไยที่กำลังโดนมาตรการกีดกันการค้าจากอินโดนีเซีย เช่นเดียวกัน และ 6) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์ และปัญหากฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการส่งออก

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ภาครัฐควรสนับสนุนการหาตลาดทดแทนให้กับภาคเอกชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการ 201 และ 232 เช่น การศึกษาตลาดที่มีศักยภาพนำเข้าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการส่งออกทดแทนตลาดสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาดโลก

2) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่การสิทธิประโยชน์ ภายใต้กรอบ FTA อื่นๆ เพื่อทดแทนความเสี่ยงรายอุตสาหกรรม ที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศที่อยู่ในสงครามการค้า ที่อาจกระทบกับการส่งออกในระยะสั้น

3) ผลักดันการเจรจาการค้าเสรีใหม่ CPTPP, RCEP, EU, Pakistan, Turkey, Bangladesh และกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างสรุปการเจรจา เพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าในระยะยาวและเป็นการเปิดตลาดให้กับผู้ส่งออกของไทยให้มีโอกาสและการกระจายความเสี่ยงของตลาดมากยิ่งขึ้น

4) ผู้ส่งออกควรเพิ่มการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการซื้อขาย โดยกำหนด Invoicing แบบ Direct Quote เพื่อให้เกิด "Currency Diversification" เป็นการกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมิให้พึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯ มากจนเกินไป รวมถึงการใช้บริการป้องกันความเสี่ยงรูปแบบอื่นจากธนาคารพาณิชย์ การใช้บัญชี FCD และการเข้าร่วมโครงการ Qualified Company ของธนาคารแห่งประเทศไทย

5) ส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce B2B Cross Border ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าและกลุ่ม SMEs / Startup นอกจากนี้ ควรติดตาม, เฝ้าระวัง และควบคุม มาตรฐานสินค้าและกลไกการกำหนดราคาสินค้าส่งออกที่อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ขายในประเทศจากธุรกิจข้ามชาติ (e-Commerce)

6) การผลักดันการเร่งเจรจาความตกลงทางการค้าในระดับนโยบาย อาทิ ข้อตกลง EU/RCEP/CPTPP

และ 7) ภาครัฐควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ การเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการยกขนตู้สินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบังและเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางและ ICD นอกท่าเรือเพื่อลดแถวคอยของรถบรรทุกภายในท่าเรือ การส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณและยกระดับตู้สินค้าเพื่อการส่งออกให้เพียงพอและคุณภาพตรงต่อความต้องการ การกำหนดให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศในส่วนของต้นทุนภายในประเทศ เป็นบริการควบคุมภายใต้ พระราชบัญญัติราคาสินค้าและบริการ พุทธศักราช 2542 การแก้ไข และปรับปรุงประกาศและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ อาทิ ประกาศตาม พรบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และการผลักดันการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement) ที่สอดคล้องกับแนวทางตามกรอบของ WTO เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าและการส่งออก เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ