SME Bank ผนึกพันธมิตรภาครัฐ-เอกชนร่วมกำหนดโมเดลส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีทั้งระบบครบวงจร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 2, 2018 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) กล่าวว่า SME Bank ผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา รวมทั้งหมด 18 หน่วยงาน บูรณาการหนุนเอสเอ็มอีครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ครอบคลุมทุกกลุ่ม ติดอาวุธปัญญาคู่เติมทุนดอกเบี้ยต่ำ ผลักดันสู่ความเป็นเลิศ ตอบโจทย์แจ้งเกิด เติบโต แข็งแกร่ง ยั่งยืน

ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งประสานพลัง 18 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ที่มีนโยบายและเป้าหมายส่งเสริมให้ SMEs ไทย ให้เกิดพลังขับเคลื่อนสูงสุด โดยบูรณาการการสนับสนุนต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างครบวงจร และครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี ผ่านแนวทางที่จะให้ทั้งความรู้ ควบคู่ผลักดันถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็ง พร้อมเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเน้นยกระดับ 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการของเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ไม่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้มาตรฐาน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยตามเกณฑ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพพัฒนามาตรฐาน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรแปรรูป กลุ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านการส่งเสริมศักยภาพนักศึกษา และผู้ประกอบการหน้าใหม่ ร่วมกับ ม.กรุงเทพ ม.หอการค้าไทย สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพ พร้อมพาเข้าถึงสินเชื่อหรือร่วมลงทุน ช่วยแจ้งเกิดธุรกิจสำเร็จ ด้านพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน ประสานกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน เพิ่มขีดความสามารถให้ก้าวมาเป็นเอสเอ็มอี สามารถดำเนินธุรกิจสร้างรายได้มั่นคงและยั่งยืน และ ด้านขยายตลาด ในกิจกรรม SME-D SCALEUP @ Chatuchak Market ต่อยอดติดปีกธุรกิจเงินล้าน สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าของ รฟท. ซึ่งมีอยู่หลายพันรายและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ให้เข้าถึงแหล่งทุน และสามารถขยายตลาดในและต่างประเทศ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ นำไปสู่การเติบโตที่ก้าวไกล

"ความร่วมมือเพื่อยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอีสู่ความเป็นเลิศ นับเป็นโมเดลในการส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีทั้งระบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน นักศึกษา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ให้มีความรู้รอบด้านทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการ ระบบการเงิน มาตรฐานทางบัญชีและภาษี ระบบขนส่ง การตลาด ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถแจ้งเกิด อยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืน" นายมงคล กล่าว

นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการพาผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยถูกพิเศษ เช่น "สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0" โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา 7 ปี สำหรับนิติบุคคล เปิดโอกาสให้รายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) ให้ชำระแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียวปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 3 ปี ผ่อนเพียง 410 บาทต่อวันเท่านั้น และ "สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว" สำหรับกลุ่มบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ประเภทธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนและเชื่อมโยงต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ประกอบการใหม่ มีนวัตกรรม คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 3% คงที่ 3 ปีแรก ผ่อนนาน 7 ปี โดยกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนเพียง 460 บาทต่อวัน เป็นต้น ขณะเดียวกัน มีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำหน้าที่เติมเต็มความรู้ ส่งเสริมเอสเอ็มอียกระดับปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ยุค 4.0

ทั้งนี้ 18 หน่วยงานที่ร่วมลงนามการส่งเสริมศักยภาพ SMEs สู่ความเป็นเลิศ ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักปลัดหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย และสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ