สบน.เผย ปี 51 เตรียมออกพันธบัตรอายุ 30 ปี คาดให้ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 6%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 17, 2007 10:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายพงศ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.อยู่ระหว่างเตรียมการออกพันธบัตรรัฐบาล อายุ 30 ปี ภายในปี 51  เนื่องจากมีความต้องการพันธบัตรดังกล่าวเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นความจำนงมาแล้วกว่า 30,000 ล้านบาท 
ส่วนอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับภาวะตลาด โดยจะต้องสอดคล้องเหมาะสมกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด แต่เบื้องต้นคาดว่าจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 6%
"ประเด็นอยู่ที่การ pricing ว่าทำอย่างไรจะให้ได้ราคาที่เป็น fair market ซึ่งตอนนี้ก็มี demand เข้ามาแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประกันชีวิต เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการเงินทุนระยะยาว และยังเป็นการลด mismatch และ cover ความเสี่ยงให้เขา" นายพงศ์ภาณุ กล่าว
ทั้งนี้ การออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีดังกล่าวจะถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาเคยออกจำหน่ายแต่พันธบัตรที่มีอายุสูงสุดไม่เกิน 20 ปี ซึ่งพันธบัตรระยะยาวถือว่ามีประโยชน์มากต่อการพัฒนาตลาตราสารหนี้ของไทย และยังเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ และญี่ปุ่น
นายพงศ์ภาณุ ยังกล่าวถึงแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในปี 51 ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีพันธบัตรและตราสารหนี้ออกจำหน่ายในตลาดจำนวนมาก เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งและความเชื่อมั่นกลับมา บริษัทเอกชนก็จะทยอยลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็มีวงเงินพันธบัตรที่จะเตรียมออกอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งทางการเองก็ได้มีการหารือกับภาคเอกชนเกี่ยวกับแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลโดยตลอดเพื่อทำให้ตลาดตราสารยังคงมีความคึกคักและไม่ประสบปัญหา
"ที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาเพราะเรามีการแบ่งการออกพันธบัตรกับหน่วยงานต่างๆ อย่างชัดเจนรวมถึงหารือกับเอกชน เช่น กองทุนฟื้นฟูฯ ก็จะทำการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อระดมทุนในตลาดจากรายย่อย ส่วนแบงก์ชาติก็จะเน้นออกพันธบัตรระยะสั้นที่อายุต่ำกว่า 14 วัน หรืออายุ 2 หรือ 3 ปี ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลก็จะเน้นออกพันธบัตรเพื่อการลงทุนเป็นหลัก โดยออกเฉพาะอายุ 5, 10, 15, และ 20 ปี โดยที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มขนาด size ใหม่ และลดความถี่ในการออก เพื่อแก้ปัญหาความไม่คึกคักในตลาดรอง"
นอกจากนี้ ในปี 51 ทางสบน.ยังเตรียมกำหนดเพดานที่จะอนุญาตให้ 10 สถาบันการเงินชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาระดมทุนโดยการออกพันธบัตรสกุลเงินบาท วงเงินไม่เกิน 65,000 ล้านบาท จากที่ปีนี้ที่อนุญาตให้ไปแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท
.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ