นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ตามที่มีการเรียกร้องหาผู้รับผิดชอบกรณีข้าวในสต็อกรัฐบาลที่ยังติดค้างอยู่ในคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ไม่สามารถนำออกมาระบายได้ เพราะมีข้าวหายไปจากบัญชีการตรวจนับเป็นจำนวนมากนั้น
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการพิจารณาระบายข้าว ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มาบริหารจัดการข้าวที่มีอยู่ในสต็อกของรัฐที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งเก็บรักษาอยู่ในคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) โดยเริ่มจากการตรวจสอบความมีอยู่จริงของข้าวทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
จากข้อมูลที่ อคส. และ อ.ต.ก.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลรักษาข้าวในสต็อกของรัฐตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้รายงานตัวเลขทางบัญชี ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2557 มีปริมาณรวม 18.70 ล้านตัน โดยมีผลการตรวจสอบด้านปริมาณและคุณภาพข้าวทั้งสิ้น 17.76 ล้านตัน ซึ่งใช้เป็นบัญชีตั้งต้นของการระบายข้าวในสต็อกของรัฐของรัฐบาลปัจจุบัน
"พบว่ามีตัวเลขส่วนต่างทางบัญชีของ อคส. และ อ.ต.ก. ปริมาณ 0.94 ล้านตัน คณะกรรมการ นบข.จึงได้มอบหมายให้ อคส. และ อ.ต.ก.ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณข้าว 0.94 ล้านตัน เพื่อให้ได้ปริมาณข้าวที่เป็นข้อยุติสุดท้าย ก่อนพิจารณานำออกมาระบาย เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐต่อไป" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าว
นายอดุลย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการ นบข. และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ได้มีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของ อคส. และ อ.ต.ก. มาเป็นระยะ และเพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบ และรัดกุม คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวจึงได้ส่งข้อมูลที่ได้รับรายงานจาก อคส. และ อ.ต.ก. ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะหน่วยงานกลางที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือของทุกฝ่าย เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีของ อคส. และ อ.ต.ก. ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวจะได้ติดตามความคืบหน้าผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดขั้นตอน กระบวนการทำงาน และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงขอให้สาธารณชนมั่นใจและเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ การตรวจสอบดังกล่าวต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยหากผลการตรวจสอบพบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นหรือมีผู้เข้าไปมีส่วนร่วม ก็จะถูกดำเนินการทางกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป