นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กสอ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงาน "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป" เพื่อให้การส่งเสริมผู้ประกอบการภาคการเกษตร จำนวน 2,000 กิจการ ภายในปี 2561 เพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ พัฒนากระบวนการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทย ตามแนวคิด "ประเทศไทย 4.0" ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานราก (Local Economy) ของประเทศ
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว กสอ.จะส่งทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่ไปยังสถานประกอบการเพื่อวินิจฉัยและประเมินศักยภาพ พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึก รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ หรือยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้ระบบอัตโนมัติหรือดิจิทัล โดยมีเป้าหมายพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หรือต่อยอดเป็นซัพพลายเชนและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้องจำนวน 2,000 กิจการ ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจทั่วไปจำนวน 1,600 กิจการ กลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพสูงจำนวน 400 กิจการ และมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มผลิตภาพเชิงบูรณาการจำนวน 4,000 คน
ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากจบโครงการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรได้มากกว่า 400 ล้านบาท
ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการทำการเกษตรในอนาคตจำเป็นต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรมีทิศทางที่สดใสสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในหลายด้าน เช่น การตลาดนำการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการน้อมนำหลักการทรงงานและเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ในการพัฒนาด้านกระบวนการทางการเกษตรที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งการวางแผนกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับภาคการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมกับการแข่งขันในยุคอุตสาหกรรม 4.0
"อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของไทย นับเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาล ที่นับว่ามีความพร้อมในด้านของปริมาณผลผลิตและวัตถุดิบที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงการผลิตทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะช่วยให้สินค้าเกษตรหลุดพ้นจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ ซึ่งรัฐบาลยังคงเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปในทุกมิติ ให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้วัตถุดิบและนวัตกรรมใหม่ ลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการหาช่องทางตลาดใหม่ๆ ตลอดจนการใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย" นายสมชาย กล่าว