รมช.คลัง มั่นใจสถานะกองทุนคุ้มครองเงินฝากแข็งแกร่งเพียงพอดูแลเงินฝากประชาชนในกรณีสถาบันการเงินมีปัญหาได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 3, 2018 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ก้าวสู่ทศวรรษแห่งความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเงินไทย" ในงานครบรอบ 10 ปี สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ว่า ปัจจุบันสถานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก อยู่ที่ระดับ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอระดับหนึ่งที่จะดูแลบัญชีเงินฝากของประชาชนกรณีที่สถาบันการเงินระดับกลางเกิดปัญหา แต่หากเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ต้องเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้ามาดูแล เพราะอาจมีผลกระทบกับภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศได้

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.61-10 ส.ค.62 จะมีการปรับลดวงเงินในการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 10 ล้านบาทต่อบัญชี จากนั้นในวันที่ 11 ส.ค.62-10 ส.ค.63 จะลดเหลือ 5 ล้านบาทต่อบัญชี และตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.63 เป็นต้นไป จะปรับลดวงเงินในการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี โดยเชื่อว่าการปรับลดวงเงินการคุ้มครองดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ดังนั้นแม้จะมีการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงก็ไม่ส่งผลกระทบอะไร สถานการณ์ทุกอย่างจะเป็นปกติ

"เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น โดยมีบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งที่ผ่านมาเป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่ง สคฝ. เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551 ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการดูแลเงินฝากว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจอีก ปัจจุบันมีบัญชีเงินฝากทั้งสิ้น 75 ล้านบัญชี มีเงินฝากรวม 12.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ของ GDP โดยเงินฝากถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแลให้มีความมั่นคง ซึ่งเรามั่นใจว่าไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดีพอมากกว่าเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาในการรับมือ หากเกิดความผันผวนในระบบเศรษฐกิจ" รมช.คลังกล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศเติบโตได้ในระยะยาว โดยได้มีการบรรจุเรื่องการปฏิรูปภาคการเงิน ด้วยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้มีความทันสมัยและเป็นสากล โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพในการสร้างแพลตฟอร์มทางการเงินของประเทศใหม่ มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวก และลดต้นทุนทางการเงินให้กับประชาชนและเอกชน จึงเป็นที่มาของโครงการ National e-Payment และระบบพร้อมเพย์ ซึ่งปัจจุบันมีการลงทะเบียนใช้งานถึง 42.6 ล้านบัญชี มียอดการทำธุรกรรมรวมกว่า 334 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท ไปจนถึงการเร่งติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) โดยในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีการติดตั้งเครื่อง EDC แล้ว 5.2 แสนเครื่อง

ขณะที่ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท เหล่านี้ถือเป็นยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงการคลัง

"หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ระดับ 4-5% ต่อเนื่อง จะใช้เวลาประมาณ 10-12 ปี ในการหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ดังนั้นรัฐบาลจึงได้วางยุทธศาสตร์ประเทศ ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 โดยการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศในอนาคต รวมทั้งได้พัฒนาโครงการระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับโครงการลงทุนต่าง ๆ ด้วย" นายวิสุทธิ์ กล่าว

ด้านนายสาทร โตโพธิ์ไทย ผู้อำนวยการ สคฝ. ยืนยันว่า การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากยังไม่ส่งผลกระทบให้เกิดการโยกย้ายบัญชีเงินฝากจนมีนัยสำคัญหรือผิดปกติ แต่ยอมรับว่าอาจจะมีการโยกย้ายบัญชีเงินฝากบ้าง แต่ก็อยู่ในระดับที่เล็กน้อยเท่านั้น โดยปัจจุบันมีบัญชีเงินฝาก 10 ล้านบาท ที่ได้รับการคุ้มครอง 98% ขณะที่บัญชีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท อยู่ที่ 98.2% โดยจะมีเพียง 1% เท่านั้นที่จะได้รับการคุ้มครอง โดยได้รับเงินคืนไม่เต็มวงเงินกรณีสถาบันการเงินมีปัญหา

"ตอนนี้เราได้มีการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ก็พบว่ายังไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับบัญชีเงินฝาก แม้ว่าจะใกล้ถึงวันปรับลดวงเงินการคุ้มครองเหลือ 10 ล้านบาทต่อบัญชี" นายสาทร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ