นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 3 และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจไทย-เวียดนาม ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2561 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ไทยและเวียดนามในฐานะสมาชิกอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมายาวนานกว่า 42 ปี เห็นพ้องที่จะกระชับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เพื่อจับมือกันขยายมูลค่าทางการค้าท่ามกลาง สภาพแวดล้อมทางการค้าโลกที่ผันผวนไม่แน่นอน เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าที่ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ อาทิ (1) การอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาทางการค้า โดยไทยได้ขอให้เวียดนามแก้ปัญหาเรื่องที่เวียดนามออกระเบียบกำหนดให้รถยนต์นำเข้าต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมทุกล้อตทุกแบบ ซึ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้าและค่าใช้จ่าย เนื่องจากเวียดนามมีศูนย์ทดสอบไม่เพียงพอ ต้องใช้เวลารอคิวนาน จากที่เคยใช้เวลา 2-3 วัน เป็นกว่า 30 วัน โดยไทยเสนอให้มีการทำความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้เวียดนามยอมรับผลการตรวจสอบของไทย และไม่ต้องตรวจสอบซ้ำในเวียดนาม พร้อมยินดีสนับสนุนเวียดนามเรื่องนี้เพื่อให้การตรวจสอบเร็วขึ้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเรื่องนี้กันต่อไป (2) ความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร ซึ่งไทยได้เร่งรัดให้ฝ่ายเวียดนามพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้ามะม่วงและเงาะของไทยที่ยื่นขอตั้งแต่ 2558 ขณะที่เวียดนามขอให้ไทยพิจารณาออกใบอนุญาตผลไม้ 5 ชนิด คือ เงาะ เสาวรส น้อยหน่า ส้มโอ และลูกน้ำนม ที่ยื่นขอในปี 2560 เนื่องจากที่ผ่านมาเวียดนามได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้ 28 ชนิด จากไทยมาขายในเวียดนามแล้ว เช่น กล้วย แคนตาลูป แก้วมังกร ทุเรียน ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกเรื่องนี้ เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันต่อไป โดยทั้งฝ่ายเห็นด้วยที่จะร่วมกันวางยุทธศาสตร์ผลไม้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของสินค้านี้ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการจับมือกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องการค้าสินค้าเกษตร ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบของทั้งสองประเทศในการแข่งขัน เช่น ข้าว กาแฟ และยางพารา (3) ขยายความร่วมมือด้านการเงินและธนาคารในหลายสาขา อาทิ การเชื่อมโยงการชำระเงิน ความร่วมมือด้านการกำกับสถาบันการเงิน ความร่วมมือด้าน Fintech ให้ทันกับสถานการณ์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการเร่งรัดให้เวียดนามพิจารณาออกใบอนุญาตการตั้งสาขาของธนาคารพาณิชย์ไทยในเวียดนาม และการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ไทยขยายขอบเขตการให้บริการเพิ่มเติม (4) การส่งเสริมกิจกรรมการแสดงและจำหน่ายสินค้า และจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคทั้งสองฝ่ายรู้จักสินค้ากันและกันมากขึ้น และ (5) ร่วมมือกันผลักดันบทบาทนำของอาเซียนให้การเจรจา RCEP บรรลุผลโดยเร็วที่สุด และยินดีสนับสนุนไทยในการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เมื่อมีการรับสมาชิกใหม่
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจคู่ขนานไปกับการประชุม JTC เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างนักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศ โดยมีผู้ประกอบการ SMEs จากทั้ง 2 ประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว กว่า 100 คน ผลการจัดกิจกรรมประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง SMEs ของทั้งสองประเทศ นักธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย สนใจที่จะซื้อ ขาย และเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจร่วมกัน สินค้าไทยที่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจเวียดนาม ได้แก่ เครื่องจักร ยางยืดสำหรับเสื้อผ้าเด็ก เทป (seal) สำหรับอุตสาหกรรม เม็ดพลาสติก pvc รีไซเคิล มาสก์ทองคำ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว อาหารเสริมสำหรับผู้ชาย ซุปต้มยำ ซุปผง ผงฟู อุปกรณ์เสริมความงาม หวี และผลไม้อบแห้ง ทั้งนี้ นักธุรกิจไทยยังได้แสดงความสนใจที่จะหาคู่ค้าด้านโลจิสติกส์ในเวียดนาม ในขณะที่ฝ่ายเวียดนามได้เชิญชวนภาคเอกชนไทยมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของเวียดนามอีกด้วย
ปัจจุบันเวียดนาม เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยในโลก การค้าของไทยกับเวียดนาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 13,141.13 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.74 ต่อปี ในปี 2560 การค้ารวมไทย-เวียดนาม มีมูลค่า 16,634.99 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญไปเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ขณะที่สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน น้ำมันดิบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์