นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวเปิดการสัมมนาวิชาการ FPO Forum ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ครั้งที่ 4/2561 ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการและนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สถาบันการศึกษา และประชาชนผู้สนใจจากจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท และสุพรรณบุรี เข้าร่วมสัมมนา
สำหรับการสัมมนาประกอบด้วย 3 หัวข้อ ดังนี้ 1. การสัมมนาภายใต้หัวข้อ "โอกาสและการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาค" สรุปได้ดังนี้
1.1 เศรษฐกิจของจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครสวรรค์ ส่วนใหญ่พึ่งพาภาคเกษตรกรรม ซึ่งในปัจจุบันประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อีกทั้งต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานในตลาดโลก ส่งผลให้การลงทุนภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลง ภาครัฐจึงควรลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการอนุมัติสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) เพื่อสนับสนุนการลงทุนภายในจังหวัดอุทัยธานีและชะลอการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคบริการได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากจังหวัดอุทัยธานีมีพื้นที่เพาะปลูกสูงถึงกว่า 500,000 ไร่ นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินภาครัฐให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่จังหวัดรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
1.2 ด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งอยู่ในภาคเหนือตอนล่างที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเที่ยวค่อนข้างสูง และมีโอกาสที่จะขยายตัวในอนาคตตามแนวโน้มการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่นิยมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวิถีชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยบรรยากาศการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากปี 2560 เนื่องจากมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล จึงเป็นแรงผลักดันในการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนภายในจังหวัดอุทัยธานีให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงมีแนวทางในการส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้มาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น
1.3 ด้านความท้าทายทางเศรษฐกิจของจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานียังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น ความตื่นตัวในการพัฒนาเทคโนโลยี 4.0 ประชากรวัยแรงงานของจังหวัดมีแนวโน้มลดลง กฎหมายเกี่ยวกับการวางผังเมืองเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น
โครงสร้างเศรษฐกิจของทั้ง 4 จังหวัดข้างต้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคเกษตรกรรมสูง ซึ่งปัจจุบันแม้จะประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวนส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายภายในจังหวัด แต่ภาครัฐก็มีนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพภาคเกษตรกรรมและให้ความช่วยเหลือเกษตรกร อีกทั้งบรรยากาศการค้า การลงทุน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวยังเอื้ออำนวยทั้งจากจุดเด่นในเชิงภูมิศาสตร์ และศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ ประกอบกับ การสนับสนุนจากมาตรการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกมาก
2. การบรรยายภายใต้หัวข้อ "คุณออม รัฐช่วยออม คุณได้บำนาญกับ กอช."
มีการแนะนะกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ และไม่อยู่ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป แม่บ้าน ลูกจ้างรายวัน นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น ได้ออมเงินและมีโอกาสได้รับบำนาญหลังอายุ 60 ปี เพื่อให้มีรายได้สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุเริ่มต้นที่ 600 บาทต่อเดือน ผู้สนใจที่สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. ต้องมีอายุ 15 – 60 ปี สะสมเงินขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 50 บาทต่อเดือน รวมกันสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี และไม่จำเป็นต้องสะสมทุกเดือน โดยสมาชิกจะได้รับเงินสมทบเป็นอัตราส่วนของเงินสะสมของสมาชิกตามช่วงอายุ และรัฐบาลประกันผลตอบแทนกรณีสมาชิกอายุ 60 ปี ให้ได้รับอัตราผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งที่กำหนด นอกจากนี้ เงินสะสมที่สมาชิกส่งเข้า กอช. สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้ที่สำนักงานคลังจังหวัด และธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
3. การบรรยายภายใต้หัวข้อ "รู้ลึก รู้จริง การเงินภาคประชาชน"
ได้มีการกล่าวถึงความสำคัญของการเงินระดับฐานราก (Microfinance) โครงสร้างสินเชื่อระดับฐานรากของไทยซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีบทบาทสำคัญในการปล่อยสินเชื่อคิดเป็นร้อยละ 54 ของสินเชื่อระดับฐานรากทั้งหมด และนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการเงินฐานรากที่สำคัญ ได้แก่ การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 – 2564 การดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. .... ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับองค์กรการเงินฐานรากให้มีสถานะนิติบุคคลโดยมีกฎหมายรองรับ แก้ปัญหาด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนในชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรการเงินระดับฐานราก
นอกจากนี้ ยังได้ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาถึงเรื่องการวางแผนทางการเงิน ความรู้เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ธุรกิจการเงินนอกระบบที่เป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนโยบายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เช่น พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560) และการใช้บริการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์)