นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน คาดว่าในปีนี้ไทยจะนำเข้าน้ำมันในปริมาณที่ลดลงจากปีก่อน 2.7% หรือประมาณ 6.54 แสนบาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่า 5.68 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 4.8% แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะสูงขึ้นก็ตาม
นอกจากนี้ จากมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และนโยบายในการกระจายแหล่งพลังงานซึ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์ จะทำให้สัดส่วนการใช้น้ำมันลดลงต่อเนื่องจาก 47.3% ในปี 47 เป็น 41.1% ในปี 50 และจะลดลงเหลือเพียง 33.6% ในปี 54 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 34.6%
รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า มาตรการทำให้ราคาน้ำมันสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเป็นมาตรการสำคัญที่สุดที่ช่วยส่งเสริมให้คนไทยลดใช้พลังงาน ขณะที่กระทรวงพลังงานเพิ่มส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์จาก 1.50 บาท/ลิตร เป็น 4 บาท/ลิตร ก็ทำให้ยอดการใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าปลายเดือนม.ค.51 นี้ ยอดการใช้แก๊สโซฮอล์ น่าจะอยู่ที่ระดับ 8 ล้านลิตร/วันได้
รวมทั้งยอดการใช้ไบโอดีเซลที่นอกจากการเพิ่มส่วนต่างจากราคาน้ำมันดีเซลเป็น 1 บาท/ลิตร ประกอบกับการเร่งรัดติดตามให้มีการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ได้มาตรฐาน ทำให้ยอดการใช้ไบโอดีเซลสัดส่วน B5 เพิ่มขึ้นจาก 1.18 แสนลิตร/วัน เพิ่มเป็น 3.1 ล้านลิตร/วัน ในเดือนพ.ย.50
ส่วนการกำหนดให้จำหน่ายไบโอดีเซล สัดส่วน B2 โดยความสมัครใจก่อนการบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.พ.51 โดยรัฐให้การอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ ทำให้การจำหน่าย B2 เพิ่มเป็น 16.2 ล้านลิตร/วันในเดือนต.ค. 50 และคาดว่าอยู่ในระดับ 18 ล้านลิตร/วันในเดือนพ.ย. ซึ่งหมายความว่าความต้องการไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ B100 ได้เพิ่มขึ้นจากเพียง 6 พันลิตร/วันในปี 49 เป็น 4 แสนลิตร/วันในเดือนพ.ย. และเมื่อ B2 มีผลบังคับใช้ในเดือนก.พ.51 แล้วความต้องการ B100 เชิงพาณิชย์จะเพิ่มเป็น 1.21 ล้านลิตร/วัน
ด้านแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP) 2007 มีการปรับใหม่จากแผนเดิม ซึ่งมีการกำหนดโครงการใหม่ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างชัดเจนจนถึงปี 58 ได้แก่ IPP จำนวน 4 โครงการ โครงการไฟฟ้าในลาวอีก 6 โครงการ (ได้แก่ น้ำเทิน 1, น้ำงึม 3, น้ำเงี๊ยบ, น้ำเทินหินบุนส่วนขยาย, น้ำอู และหงสาลิกไนท์) ทั้งนี้เพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากก๊าซธรรมชาติมีปริมาณจำกัดและราคา LNG ที่จะต้องนำเข้าคาดว่าจะแพงขึ้นมาก
โดยในช่วงหลังปี 58 มีโครงการจากต่างประเทศที่จะสามารถป้อนเข้าระบบไฟฟ้าไทยได้อีกมาก โดยเฉพาะเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจากพม่า, โรงไฟฟ้าถ่านหินจากเกาะกง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลดลงจาก 72.7% ในปี 51 เหลือ 58.7% ในปี 59 และเหลือ 38.9% ในปี 64
ในขณะที่สัดส่วนการจัดหาไฟฟ้าจากต่างประเทศจะเพิ่มจาก 1.6% ในปี 51 เป็น 13.4% ในปี 59 และเพิ่มเป็น 28.4% ในปี 64 ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์จะมีสัดส่วน 10% ในปี 64
"มาตรการเลิกชดเชยราคาน้ำมัน การส่งเสริมพลังงานทดแทน และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าเป้า ส่งเสริมให้ประชาชนลดใช้พลังงานต่อเนื่อง ช่วยลดนำเข้าน้ำมันกว่า 103,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นเงินปีละ 9 หมื่นล้านบาท" รมว.พลังงานระบุ
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/กษมาพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--