ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศผ่อนคลายมาตรการกันสำรอง 30% เพิ่มเติมในบางส่วน โดยประเด็นสำคัญ ได้แก่ ยกเว้นการกันสำรองและการทำประกันความเสี่ยงสำหรับการขยายกองทุนอสังหาริมทรัพย์กองเดิม และเพิ่มวงเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เป็นต้น
ธปท.ยังไม่พิจารณายกเลิกมาตรการสำรอง 30% ทั้งหมดในขณะนี้ แต่หากในปีหน้าปัจจัยต่างๆ รอบด้านปรับตัวดีขึ้น ธปท.ก็อาจจะพิจารณายกเลิกมาตรการดังกล่าว
สำหรับประกาศของ ธปท.ได้ผ่อนคลาย ประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
1.มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นในส่วนของหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศของภาคธุรกิจ และเงินลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ประกอบด้วย 1.1 ยกเว้นการกันเงินสำรองและการทำ Fully Hedge กรณีนิติบุคคลในประเทศนำเงินตราต่างประเทศที่เป็นเงินกู้ยืมมาขายรับบาทในจำนวนตามสัญญาเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ. และมีกำหนดระยะเวลาการกู้ที่ชัดเจนตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
1.2 กรณีนิติบุคคลในประเทศที่มีเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ โดยมีแหล่งเงินได้ค่าสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศในอนาคตเพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้ดังกล่าวได้เต็มจำนวน (Natural Hedge) ให้สามารถยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. เป็นรายกรณีพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่กำหนด
และ 1.3 ยกเว้นการกันเงินสำรองและการทำ Fully Hedge กรณีผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองเดิม นำเงินตราต่างประเทศมาขายรับบาทเพื่อชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองเดิมที่ออกขายเพิ่มเติม โดยผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าว ณ วันปิดสมุดทะเบียนก่อนการขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม
2. ผ่อนคลายระเบียบการฝากและโอนเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้ธุรกิจไทยบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีแนวทางการผ่อนคลาย
2.1 ผ่อนผันให้บุคคลในประเทศฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในประเทศได้ในวงเงินที่เพิ่มขึ้น และยกเว้นให้ผู้ที่มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศฝากเงินในบัญชีโดยไม่ต้องยื่นเอกสารแสดงภาระผูกพัน ดังนี้ ก.บัญชีที่มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ ฝากได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่ต้องแสดงภาระผูกพัน
และ ข. บัญชีที่มีแหล่งเงินจากในประเทศ - กรณีไม่มีภาระผูกพัน ฝากได้ไม่เกิน 1 แสนดอลลาร์ สำหรับบุคคลธรรมดา และ 3 แสนดอลลาร์ สำหรับนิติบุคคล ส่วน กรณีลูกค้ามีภาระผูกพัน (ไม่กำหนดเวลา) ให้ฝากได้ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ สำหรับบุคคลธรรมดา และ 100 ล้านดอลลาร์ สำหรับนิติบุคคล ทั้งนี้ หากบุคคลในประเทศต้องการฝากเงินตราต่างประเทศเกินกว่าวงเงินที่กำหนดดังกล่าว จะฝากได้อีกไม่เกินยอดรวมของภาระผูกพันภายใน 12 เดือน
และ 2.2 ผ่อนผันให้บุคคลในประเทศลงทุนโดยตรงหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเพิ่มวงเงินและขยายขอบเขตการลงทุนหรือให้กู้ยืมให้ครอบคลุมถึงกิจการในต่างประเทศที่อยู่ในเครือเดียวกันแต่ไม่มีการถือหุ้นกันโดยตรงด้วย ดังนี้ ก. บริษัทแม่ในไทยลงทุน หรือให้กู้แก่บริษัทลูก และบริษัทในเครือในต่างประเทศรวมกันไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์/ปี ข.บริษัทลูกในไทยลงทุน หรือให้กู้แก่บริษัทแม่ และบริษัทในเครือในต่างประเทศที่มีบริษัทแม่เดียวกันรวมกันไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์/ปี และ ค. บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลงทุนตาม ก และ ข ได้ไม่จำกัดจำนวน และให้กู้ยืมได้ไม่เกินกรณีละ 100 ล้านดอลลาร์/ปี
2.3 เพิ่มวงเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ จากไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์/ปี เป็นไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์/ปี
ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นตามข้อ 1 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ส่วนการผ่อนคลายระเบียบการโอนและฝากเงินตราต่างประเทศตามข้อ 2 จะมีผลหลังจากกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้แล้ว
ธปท. จะประเมินภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเป็นระยะ และจะพิจารณายกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นเมื่อสถานการณ์เหมาะสม โดยขึ้นกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินสกุลหลัก และภาวะตลาดการเงินโลก รวมทั้ง ความสมดุลของการไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศจากการค้าและเงินทุนเคลื่อนย้าย
"แบงก์ชาติพร้อมจะผ่อนคลาย แต่ไม่สามารถจะยกเลิกได้ทันที เพราะอุปสงค์ในประเทศยังมีความเปราะบาง ขณะเดียวกันปัญหาซับไพร์มยังไม่จบ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ และอาจกระทบการส่งออกของไทย ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังมีความเสี่ยง ยังมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะไหลเข้าไทย และการผ่อนคลายทั้งหมดทันทีจะกดดันเงินบาทเกินไป" นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท.กล่าว
สำหรับการใช้มาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้นในรอบเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ก่อนออกมาตรการเงินบาทแข็งค่า 16.6% แต่ขณะนี้เหลือ 7.4% ขณะที่เงินบาทที่แท้จริง แข็งค่าไม่เกิน 1% ขณะที่เงินไหลเข้า 9 เดือนแรก 9,262 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.9% ของจีดีพี ส่วนปี 49 อยู่ที่ 13,616 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.6% ของจีดีพี
ส่วนวงเงินที่ภาคธุรกิจทำป้องกันความเสี่ยง ณ พ.ย. 50 มีจำนวน 4,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินกันสำรอง 30% อยู่ที่ 794 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากยกเลิกมาตรการทันทีเงินจำนวน 794 ล้านดอลลาร์ก็จะกลับเข้ามาในระบบ และจะเป็นแรงกดดันทำให้บาทแข็งค่า
"ค่าเงินบาทในปีนี้ของไทยไม่ได้แข็งค่าไปกว่าภูมิภาค หรือประเทศเพื่อนบ้าน และความผันผวนลดเหลือ 3.3% จาก 5.1% ปีก่อน และความผันผวนของไทยอยู่อันดับ 8 ในภูมิภาค" นางสุชาดา กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--