นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า คณะบริษัทผู้ประกอบกิจการยางจากจีน ร่วมประชุมหารือการซื้อขายยาง STR 20 ณ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ พร้อมลงพื้นที่ชมการผลิตและแปรรูปฯ ณ กองจัดการโรงงาน 5 การยางแห่งประเทศไทย จ.อุดรธานี โดยการประชุมหารือธุรกิจในครั้งนี้ สืบเนื่องจากโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นผู้ผลิตยางพาราได้พบกับผู้ซื้อยางซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการยางพาราจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลผลิตด้านยางพารา รวมถึงศักยภาพด้านการผลิตยางพาราของไทย
ดังนั้น การประชุมหารือในครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณและแนวโน้มให้เกิดการซื้อขาย หรือทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อพัฒนาธุรกิจด้านยางพาราระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยการประชุมหารือร่วมกับบริษัทจากประเทศจีนดังกล่าว ประกอบด้วย 3 บริษัท คือ Jihua 3517 Rubber Products Co., Ltd. Jihua Yueyang New Material Technology Co., Ltd. และ Hunan Xuan Ye Ecological Agriculture Development Co., Ltd. ซึ่งมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากไทยไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้าบูททหาร สายพาน และผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่นๆ
"ปัจจัยที่ทำให้ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต่างประเทศ สนใจวัตถุดิบยางจากประเทศไทย เพราะไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และยางไทยมีมาตรฐานดีที่สุด มีการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย มีการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน โดย BOI รวมถึงกระบวนการผลิตตามมาตรฐาน GMP, GDP และมาตรฐานยางพาราจากหลายหน่วยงานของประเทศไทย พร้อมที่จะเป็น OEM ซึ่งมีตลาดกลางยางพารา 6 ตลาดรองรับทั่วประเทศ ทำให้จีนสนใจเจรจาและลงพื้นที่ดูการผลิตยางแท่งเพิ่มเติม" นายเยี่ยมกล่าว
ส่วนการนำคณะผู้แทนจาก 3 บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางจากประเทศจีน เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปยาง STR 20 ของ กยท. ณ กองจัดการโรงงาน 5 จ.อุดรธานี รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การนำเยี่ยมชมโรงงานในครั้งนี้มีการบรรยายกระบวนการผลิตยาง ข้อมูลของยาง ทั้งด้านคุณภาพ ราคา และกำลังการผลิต รวมถึงได้ชมการตรวจสอบคุณภาพยางในห้องแลปของโรงงาน และชมตัวอย่างยาง STR 20 ที่กองจัดการโรงงาน 5 เป็นผู้ผลิต ซึ่งโรงงานผลิตยาง STR ของ กยท.แห่งนี้ รวมถึงโรงงานแปรรูปยางของ กยท. อีก 2 โรรงานในภาคอีสาน มีกำลังการผลิตยาง STR20 ได้ขั้นต่ำโรงงานละ 1,500 ตัน/เดือน หรืออย่างน้อย 18,000 ตัน/ปี รวมโรงงาน 3 แห่ง มีกำลังการผลิต 54,000 ตันต่อปี ซึ่ง กยท. ผลิตตามปริมาณการซื้อของตลาดและสามารถขยายการผลิตได้ ทั้งนี้ตลอดกระบวนการผลิตจะเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าเป็นสำคัญ
"หลังจากการหารือและเยี่ยมชมโรงงานครั้งนี้ ผู้แทนจากบริษัทจีนสนใจสั่งซื้อยางล็อตแรก จำนวน 2,000 ตัน และจะทำสัญญาความร่วมมือระยะยาวกับไทย โดยบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางจากประเทศจีนจะกลับไปร่างรายละเอียดของความร่วมมือและส่งมือให้ กยท.พิจารณาต่อไป" นายเยี่ยม กล่าว