นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก.ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ ซึ่งเป็นคณะกรรมการเฉพาะเรื่องภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณา (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 ปี 2560-2579
ในการนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานการปรับปรุง (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 ปี 2560 - 2579 ตามความเห็นของคณะกรรมการเพื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวภายในเดือนสิงหาคม 2561 และพิจารณาการจัดทำตัวชี้วัดเป้าหมายของ (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์ฯ ทั้ง 6 เป้าหมาย ประกอบด้วย เป้าหมายที่ 1 จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง เป้าหมายที่ 2 ปริมาณการสูญเสียและขยะอาหารลดลง เป้าหมายที่ 3 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น เป้าหมายที่ 4 มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น เป้าหมายที่ 5 จำนวนคนที่มีภาวะโภชนาการขาดและโภชนาการเกินลดลง และเป้าหมายที่ 6 มีหน่วยงานกลางประสานการดำเนินการ ก่อนนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติครั้งต่อไปในเดือนกันยายน 2561
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีบทบาทนำในการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคงอาหาร ซึ่งมีหลักการดำเนินงานเพื่อให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามที่จะลดจำนวนผู้ขาดสารอาหารในประเทศให้น้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมานับว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างมาก โดยพิจารณาจากข้อมูลการสำรวจสัดส่วนของผู้ขาดสารอาหารในประเทศไทยของ FAO พบว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2560 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ขาดสารอาหารเพียง 9.5% ลดลงอย่างมากจากปี 2533 ซึ่งมีจำนวนผู้ขาดสารอาหารสูงสุดถึง 34.6% แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารและประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาผลิตภาพการผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรรายย่อยเพิ่มขึ้นสามารถบริโภคอาหารได้หลากหลายและมีคุณค่าโภชนาการมากขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร โดยพิจารณาจาก "อัตราการพึ่งพาตนเอง (Self-Sufficiency Ratio: SSR)" ซึ่งเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงการพึ่งพาสินค้าเกษตรที่ผลิตภายในประเทศให้สอดคล้องกับการใช้ในประเทศที่มีความสมดุล พบว่า ไทยมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว และ อ้อย (สำหรับผลิตน้ำตาล) กลุ่มไขมัน เช่น ปาล์มน้ำมัน กลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อไก่ เนื้อสุกร และกุ้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีบางกลุ่มสินค้าที่มีค่า SSR ต่ำ ซึ่งหมายถึงการผลิตสินค้าเกษตรที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และโคเนื้อ เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้มีปริมาณเพียงพอพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัย และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตรเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สนับสนุนการดำเนินโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีและเห็นผลในระยะสั้น (Quick win) ผ่านการดำเนินโครงการโคบาลบูรพา ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมโคเนื้อครบวงจร สร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกและเพิ่มการผลิตเนื้อโคเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ รวมถึงโครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ พันธุ์ กข 43 แบบครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งเสริมให้เป็นสินค้าตลาดเฉพาะ (Niche Market) เป็นต้น ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 ปี ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้นำกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดแนวทางดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารในช่วงระยะ 20 ปี ควบคู่และสอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการเกษตรระยะ 20 ปีต่อไป