ม.หอการค้าฯ เผย Q2/61 ดัชนี SMEs ทุกรายการปรับตัวเพิ่ม ส่งสัญญาณการยกระดับทางธุรกิจดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 8, 2018 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs ไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 43.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 แสดงให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน เพราะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 3/60 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 3/61 ไปอยู่ที่ระดับ 43.6

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบดัชนีสถานการณ์ธุรกิจในกลุ่มที่เป็นลูกค้าและกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank จะพบว่า ในกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว.สถานการณ์ธุรกิจปรับตัวลดลงเกือบทุกหัวข้อของการสำรวจ เช่น สต็อกวัตถุดิบ, หนี้สินรวม, กำไรสุทธิ, กำไรสะสม โดยดัชนีสถานการณ์ธุรกิจปรับลดลง 0.6 จากระดับ 39.4 มาอยู่ที่ระดับ 38.8 สวนทางกับกลุ่มที่เป็นลูกค้าของ ธพว. ที่ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเพิ่มขึ้น 1.9 จากระดับ 46.4 มาอยู่ที่ระดับ 48.3

ด้านดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ SMEs ไตรมาส 2/61 อยู่ที่ระดับ 50.2 ปรับตัวลดลง 0.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. พบข้อแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีลดลงอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 44.9 ในไตรมาส 1/61 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.3 ในไตรมาส 2/61 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว.ปรับเพิ่มขึ้น 0.6 จากระดับ 56.2 ในไตรมาสที่ 1/61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.8 ในไตรมาส 2/61

ส่วนดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ SMEs ไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ระดับ 52.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2561 ไปอยู่ที่ระดับ 52.3 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ไตรมาส บ่งบอกว่าผู้ประกอบการมีการยกระดับการทำธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนได้ดีขึ้น โดยกลุ่มที่ไม่เป็นลูกค้า ธพว.ปรับขึ้น 1.1 จากไตรมาสก่อน ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.0 ส่วนกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว.ปรับขึ้น 0.2 จากไตรมาสก่อน ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 58.7

ทั้งนี้ จากดัชนีทั้ง 3 ตัวดังกล่าวนำมาสู่ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ไตรมาส 2/61 พบว่าอยู่ที่ระดับ 48.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากไตรมาส 3/60 เป็นต้นมา และคาดว่าไตรมาส 3/61 จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 48.7 โดยเมื่อแยกกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้า ธพว.พบว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขันลดลง 0.1 มาอยู่ที่ 43.0 จาก 43.1 ส่วนลูกค้า ธพว.ดัชนีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น 0.9 มาอยู่ที่ 54.6 จาก 53.7

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ประเด็นที่ผู้ประกอบการควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน แม้ว่าจะยังทรงตัวในทิศทางอ่อนลง, ราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้นหากสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่าน, สงครามทางการค้ายังไม่สิ้นสุด ระดับราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวต่ำ, กำลังซื้ออาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวเร็ว และปัญหาความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว.กล่าวว่า ดัชนีที่สำรวจครั้งนี้ สะท้อนถึงแนวทางสนับสนุนลูกค้าอขงธนาคารที่มุ่งเติมทุนผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยถูก ควบคู่กับการพัฒนาให้ความรู้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำบัญชี, วางแผนธุรกิจ, การตลาด, การสร้างมาตรฐานให้สินค้าหรือบริการ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะจะช่วยให้ SMEs โดยเฉพาะรายย่อยคนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย รวมถึงมีความสามารถในการทำธุรกิจสูงขึ้น ผลักดันธุรกิจสู่ความยั่งยืน และมีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจมากกว่าผู้ประกอบการโดยทั่วไป

พร้อมกันนี้ ธนาคารฯ ได้เปิดบริการแอพพลิเคชั่น "SME D Bank" ยื่นขอสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา โดยเจ้าหน้าที่หน่วยบริการเคลื่อนที่ "รถม้าเติมทุน ส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น" จะเข้าไปพบเพื่อตรวจสภาพกิจการจริง ช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยในชุมชนต่างๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษของธนาคารได้ง่ายขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ