น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังพิธีมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2561 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลว่า กรมบัญชีกลางจัดงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 11 แล้ว ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำทุนหมุนเวียนไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของภาครัฐ ในการตอบสนองนโยบายด้านต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารและพัฒนาประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม
รัฐบาลพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้ทุนหมุนเวียนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเท่าเทียมกัน การสร้างโอกาสและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรให้ยั่งยืน การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน เพิ่มศักยภาพและพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน กองทุนการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กองทุนส่งเสริมการให้เอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานในทุกบทบาทภารกิจของทุนหมุนเวียนเห็นผลเป็นรูปธรรม และสามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการ จึงจำเป็นต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ทุนหมุนเวียนทุกแห่งต่างมีเป้าหมายในการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง ซึ่งทุนหมุนเวียนนับว่าเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริม ผลักดัน กระตุ้น รวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน สมดังเจตนารมณ์ที่ว่า ทุนหมุนเวียน 4.0 เชื่อมโยงรัฐกับประชาชน สู่ไทยนิยมยั่งยืน
"การมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น เป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการสร้างแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป" น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าว
โดยวันนี้มีทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลประจำปี 2561 จำนวนทั้งสิ้น 10 รางวัล จาก 5 ประเภทรางวัล ดังนี้
1. รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น เป็นรางวัลสำหรับทุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานโดยรวมดีเด่น สามารถดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุเป้าหมายตามภารกิจ จำนวน 4 ทุน ได้แก่ 1) กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2) เงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน และการทำของ 3) กองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ และ 4) กองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
2. รางวัลการพัฒนาดีเด่น เป็นรางวัลสำหรับทุนหมุนเวียนที่มีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการดำเนินงานตามเป้าหมายหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น
- ประเภทดีเด่น ไม่มีทุนหมุนเวียนได้รับรางวัล
- ประเภทชมเชย จำนวน 2 ทุน ได้แก่ 1) เงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด และ 2) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดทำแผ่นป้ายทะเบียนรถ
3. รางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น เป็นรางวัลสำหรับทุนหมุนเวียนที่มีการจัดการบริหารพัฒนา และปรับปรุงองค์กรที่ครอบคลุมตามกรอบการประเมินด้านที่ 4 การบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน จำนวน 2 ทุน ได้แก่ 1) กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 2) กองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
4. รางวัลทุนหมุนเวียนเกียรติยศ เป็นรางวัลที่ยกย่องชมเชยให้กับทุนหมุนเวียนที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีผลการดำเนินงานในระดับดีเด่นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี จำนวน 1 ทุน ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการวิจัย
5. รางวัลผู้บริหารทุนหมุนเวียนดีเด่น เป็นรางวัลที่ยกย่องผู้บริหารทุนหมุนเวียนที่มีผลงานผ่านการประเมินของคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนในระดับดีขึ้นไป ซึ่งเป็นรางวัลที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 1 ทุน ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการวิจัย
"กรมบัญชีกลาง มุ่งพัฒนาการบริหารจัดการของทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2562 จะมีการกำหนดตัวชี้วัดให้ทุนหมุนเวียนพัฒนาตนเองเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนต่อไป" อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุ
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ปัจจุบันมีทุนหมุนเวียนอยู่ทั้งหมด 115 แห่ง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานของรัฐบาล ลดข้อจำกัดจากการใช้งบประมาณปกติที่จะต้องมีความชัดเจน ซึ่งการบริหารงานบางเรื่อง ไม่สามารถระบุงบประมาณจัดสรรที่ชัดเจนได้ ทำให้ไม่สามารถตั้งงบได้ในช่วงระหว่างการจัดทำงบในแต่ละปี เช่น กองทุนให้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จึงจำเป็นต้องมีทุนหมุนเวียนเข้ามาช่วยดูแล
ทั้งนี้ ทุนหมุนเวียนแต่ละแห่งมีการใช้เงินต่างกัน บางแห่งได้รับการจัดสรรงบประมาณ บางแห่งก็สามารถหารายได้บริหารกองทุนด้วยตัวเอง ซึ่งในอดีตแต่ละกองทุนต่างบริหารจัดการกันเอง แต่หลังจากที่ พ.ร.บ.ทุนหมุนเวียน มีผลบังคับใช้ในปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดระเบียบทุนหมุนเวียนทุกแห่งให้มาขึ้นกับคณะกรรมการทุนหมุนเวียน โดยมีการกำหนดระเบียบ วิธีการปฏิบัติ การตรวจสอบ ระบบบัญชี ที่ทุกกองทุนจะต้องมีแนวปฏิบัติเหมือนกัน
รมว.คลัง กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดตั้งทุนหมุนเวียนใหม่ๆ โดยพิจารณาความเหมาะสม หลักการจัดตั้งต้องไม่เป็นภารกิจที่หน่วยงานราชการปกติดำเนินการอยู่ หรือไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่เดิม หากคณะกรรมการเห็นชอบก็จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติ ขณะเดียวกันคณะกรรมการก็ต้องประเมินผลทุนหมุนเวียนทุกปี
อย่างไรก็ดี พบว่าในปีที่ผ่านมามีทุนหมุนเวียน 10 แห่งที่ไม่ผ่านการประเมิน ซึ่งคณะกรรมการทุนหมุนเวียนได้สั่งการให้กรมบัญชีกลาง เข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ หากไม่ผ่านการประเมินติดกัน 3 ปี ก็จะต้องมีการยุบทุนหมุนเวียนนั้นทิ้งไป
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันทุนหมุนเวียน 115 แห่ง มี มีทุนหมุนเวียนรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท โดย พ.ร.บ.ทุนหมุนเวียน จะมีการกำหนดเพดานทุนสูงสุดในแต่ละแห่งเพื่อให้เพียงพอใช้ดำเนินการในแต่ละปี ส่วนที่เกินก็ต้องนำส่งคลังคืนเพื่อไปใช้ในโครงการอื่น เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็น เพราะยังเป็นการทำงบประมาณแบบขาดดุลอยู่ อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาไม่ให้ทุนหมุนเวียนบางแห่งนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายอย่างไม่จำเป็น