นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที (TOT) หัวหน้าคณะทำงานพิจารณาแนวทางในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง TOT และบมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) เปิดเผยถึง ผลการประชุมคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านของ TOT, CAT, บริษัท NBN Co. และบริษัท NGDC Co. เพื่อหาข้อสรุปเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการ- นโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งคณะกรรมการบริษัทของแต่ละบริษัทได้รับทราบแนวทางการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง TOT และ CAT และให้นำเสนอคณะทำงานฯ
สำหรับแนวทางการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง TOT และ CAT ทั้ง TOT และ CAT มีเป้าหมายเดียวกันคือรวมทั้งสองบริษัทเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และความแข็งแกร่งขององค์กรในอนาคต แต่เนื่องจากรูปแบบการรวมสองบริษัทมีแนวทางต่างกัน โดยเสนอแนวทางเปลี่ยนชื่อ TOT เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) มีภารกิจหลักในการตอบสนองนโยบายรัฐด้านความมั่งคง และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม/ดิจิทัล
พร้อมตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาพิจารณาแนวทางโอนย้าย งาน ทรัพย์สิน สิทธิการใช้คลื่น และพนักงาน CAT เข้ามา บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จากนั้นจะทยอยโอนย้ายฯ รวมทั้งจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่กระทบด้านคดีและข้อพิพาทระหว่าง TOT และ CAT โดยเฉพาะคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทเอกชน และไม่มีผลกระทบกับสิทธิการใช้คลื่นความถี่ 2100 MHz และ 2300 MHz
ในขณะที่ CAT เสนอแนวทางการจัดตั้งบริษัท โทรคมนาคม แห่งชาติ โดยควบรวม CAT และ TOT เป็นนิติบุคคลเดียว โดยระยะแรก CAT และ TOT เป็น Business Unit แบบเบ็ดเสร็จภายใต้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ และตั้งคณะกรรมการควบรวมเพื่อศึกษาด้านกฎหมาย และคดีความด้านการเงิน-แผนธุรกิจ ด้านโครงสร้างและบุคลากร และระยะการเปลี่ยนผ่าน Transition Process
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านฯ ได้มอบหมายให้ผู้บริหาร TOT และผู้บริหาร CAT ทำหนังสือวิเคราะห์ข้อดีและข้อจำกัดแนวทางที่แต่ละบริษัท นำเสนอภายในสัปดาห์นี้ เพื่อคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านฯ จะได้นำเสนอคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 14 สิงหาคม 2561 นี้
นายมรกต กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการหาประโยชน์ จากทรัพย์สินร่วมกันฯ ของ TOT เพื่อไม่ให้กระทบกับผลที่อาจจะเกิดจากสิทธิการใช้คลื่นของทั้งสององค์กร และเพื่อไม่ให้กระทบกับด้านคดีและข้อพิพาทโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทเอกชน ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศและประชาชนเสียประโยชน์ในอนาคตเป็นสำคัญ และได้นำข้อสังเกตในการประชุมคณะทำงานพิจารณาฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมเป็นประธานมาดำเนินการ คือ 1.การออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดจั้งบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ อาจดำเนินการได้ยาก ดังนั้น จึงอาจต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2. การให้ TOT และ CAT เป็นบริษัทลูกภายใต้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ อาจกระทบกับสภาพการจ้างของพนักงาน 3. การโอนทรัพย์สิน กิจการ และพนักงาน ไปยังบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ
ตามแนวทางของ TOT ที่เสนอให้ใช้ระยะเวลา 3-4 ปี อาจถูกแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนในภาพรวมทั้งหมด และ 4.การโอนทรัพย์สินไป บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ตามแนวทางของ CAT ที่เสนอให้โอนทั้งหมดทันที มีความเป็นไปได้ที่จะไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จเนื่องจากการรวมธุรกิจที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ และพนักงานมีวัฒนธรรมต่างกันมาก
สำหรับแนวทาง โทรคมนาคมแห่งชาติ ของ TOT มีแนวทาง ดังนี้
- ปี 2561 เปลี่ยนชื่อ TOT เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งมีภารกิจหลักในการตอบสนองนโยบายรัฐ ด้านความมั่นคง และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม/ดิจิทัล รวมทั้งจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาพิจารณาแนวทางโอนย้าย งาน ทรัพย์สิน สิทธิการใช้คลื่นและพนักงาน CAT เข้ามาบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)
-ปี 2562-2564 ทยอยโอนย้ายงาน ทรัพย์สิน สิทธิการใช้คลื่นและพนักงานจาก CAT มาอยู่หน่วยธุรกิจภายใต้ NT ตามผลการศึกษาของคณะกรรมการ รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจ National Service เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและตอบสนองนโยบายรัฐ และทยอยจัดตั้งบริษัทภายใต้ NT กรณีธุรกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และมีการแข่งขันสูง อาทิ บริษัทลูก Mobile Reseller และDigital Solution
-ปี 2565ขึ้นไป ยุติบทบาท CAT หากไม่กระทบเรื่องคดีความ ไม่ขัดกฎหมายเรื่องการโอนทรัพย์สิน และอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ให้ บริการด้านโทรคมนาคมครบวงจรแต่เพียงผู้เดียว สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างเบ็ดเสร็จทั้งด้านโครงข่ายและการให้บริการของรัฐ