กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ประเดิมลงพื้นที่ภาคตะวันออกจัดสัมมนาหัวข้อ "โอกาสและความท้าทายของไทยในการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี CPTPP" เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้สนใจเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทย ก่อนเดินหน้าลงพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนารับฟังความเห็นในครั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลได้แสดงความสนใจที่จะให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP และได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน โดยได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการ รวมทั้งเป็นหน่วยงานหลักและร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิเคราะห์ผลดีผลเสีย และจัดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านประกอบการนำเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย
ดังนั้น การสัมมนาครั้งนี้ กรมฯ จึงได้เชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาครัฐ มานำเสนอข้อมูลภาพรวมความตกลง CPTPP และประเด็นปลีกย่อยต่างๆ ตั้งแต่การเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน ประเด็นเกษตร การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ประเด็นสุขภาพและสาธารณสุข เป็นต้น และได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งมีมุมมองทั้งในด้านประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับ อาทิ ขยายโอกาสการค้าการลงทุนของไทย ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ต้นทุนภาคธุรกิจลดลง ผลักดันและสร้างแรงจูงใจในการพัฒนามูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็อาจจะเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในการสัมมนาเปิดรับฟังความเห็นต่อการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยทั่วประเทศ กรมฯ จะดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ โดยหลังจากจัดงานสัมมนาที่ชลบุรีแล้ว ยังมีแผนจัดรับฟังความเห็น CPTPP อีกในภูมิภาคอื่น ได้แก่ เชียงใหม่ (4 กันยายน 2561) สงขลา (13 กันยายน 2561) และขอนแก่น (26 กันยายน 2561) ส่วนที่กรุงเทพฯ (19 กันยายน 2561) เพื่อให้ได้รับความเห็นที่ครอบคลุมจากทุกภาคส่วน และทุกภูมิภาคของประเทศ
สำหรับ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบันสมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ คาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562
และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่ ดังนั้นไทยจึงยังมีเวลาที่จะศึกษา วิเคราะห์ผลดี ผลเสียของการเข้าร่วม และหนึ่งในภารกิจสำคัญคือการจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อรวบรวมเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป โดยปัจจุบัน ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีนไทเป (ไต้หวัน) และโคลอมเบีย เป็นต้น