ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "โอกาสการลงทุนภายใต้นโยบายเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0" ในงานประชุม ADES 2018 - ASEAN Digital Economy Summit "ธุรกิจบล็อกเชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล" ว่า เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศโดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและผลงาน โดยใช้เวลาน้อยลง แต่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่เป็นยุคของการใช้งานสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ประกอบกับการติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านทางเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงซึ่งกำลังจะก้าวผ่านจากระบบ 4G เป็น 5G ที่ใช้งานได้ง่ายขึ้นและมีความเร็วมากขึ้นนั้น ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมากมายในแทบทุกสาขาเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลไทยก็ตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยระบบดิจิทัลจนเป็นที่มาของ "ไทยแลนด์ 4.0" ที่มุ่งผลักดันการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจากรูปแบบเดิมไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ภายใต้โมเดลในการสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน
ในฐานะที่ไทยจะเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2562 ที่จะถึงนี้ ดร.พิเชฐระบุว่า ตำแหน่งประธานอาเซียนนี้มีความหมายอย่างมากต่อไทย เพราะเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันความเคลื่อนไหวของภูมิภาคในทิศทางต่างๆ ขณะที่ประเทศสมาชิกกำลังเร่งความพยายามเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนเพียงเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความเสถียรภาพ ความสามารถในการแข่งขัน และความมั่งคั่งให้กับภูมิภาคของเราอีกด้วย
สำหรับนโยบายของไทยนั้น รมว.ดิจิทัลกล่าวว่า การผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นในประเทศนั้น จำเป็นต้องอาศัยการประสานพลังจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน, ธนาคาร, ประชาชน, สถานศึกษา ตลอดจนสถาบันวิจัยต่างๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็กำลังเดินหน้าเต็มสูบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการเปิดรับเทคโนโลยีที่จะนำเอาโอกาสทางการค้าและการลงทุนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ ซึ่งนอกจากเรื่องของเศรษฐศาสตร์มหภาคที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างการเชื่อมโยงทางกายภาพ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ เรื่องของการสร้างความเท่าเทียมสังคมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน รัฐบาลจึงเร่งผลักดันโครงการเน็ตประชารัฐตลอด 2-3 ปีมานี้ และคาดว่า หมู่บ้านทั่วประเทศที่มีอยู่เกือบ 75,000 หมู่บ้านจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ทั่วทั้งหมดภายในสิ้นปี 2561 ซึ่งนับเป็นการสร้างโอกาสมหาศาลให้กับชุมชน ด้วยการตัดวงจรพ่อค้าคนกลางออกไป ให้ชาวบ้านสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้โดยตรงผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ โดยมีบริษัทไปรษณีย์ไทยเป็นผู้สนับสนุนด้านการขนส่ง ด้วยวิธีการชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการสร้างชีวิตชีวาขึ้นมาในชุมชนอีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จากเดิมที่ร้านค้าเล็กๆในหมู่บ้านจะทำการค้าขายกันแต่เพียงในชุมชนเท่านั้น หลังจากนี้ไปพวกเขาจะสามารถนำสินค้าไปขายให้กับคนทั้งโลกได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ดร.พิเชฐกล่าวต่อไปว่า นอกจากเครือข่ายการเชื่อมโยงในประเทศที่เรากำลังพยายามทำอยู่แล้ว เรื่องของความร่วมมือกับต่างประเทศก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสมาชิกอาเซียนรายอื่นๆ รวมถึงประเทศคู่เจรจาอย่างจีน อย่างที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าภูมิภาคของเราเป็นภูมิภาคที่มีการใช้งานโซเซียลมีเดียและทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรายังไม่มีการเชื่อมโยงต่อกันอย่างเพียงพอ โดยที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ได้มีโครงการริเริ่มเดินสายเคเบิ้ลใต้ทะเลเส้นทางใหม่จากไทยไปจีนผ่านฮ่องกง และหลังจากที่โครงการดังกล่าวได้ถูกประกาศออกไปทำให้ได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการเข้าร่วมโครงการอีกหลายประเทศ ซึ่งแม้จะส่งผลให้การดำเนินการอาจต้องล่าช้าออกไปบ้าง แต่นับเป็นสัญญาณที่ดีเพราะหากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง นั่นเท่ากับว่าเรากลายเป็นภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยรัฐบาลยังตระหนักดีว่าการเติบโตของนวัตกรรมเทคโนโลยีทุกวันนี้นั้นไปไกลมากกว่าการที่จะเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อีกต่อไปแล้ว จึงได้เกิดแนวคิดของการเป็นรัฐบาลดิจิทัลขึ้นมา โดยได้ผลักดันให้มีการนำเอาเทคโนโลยีบิ๊กดาต้ามาใช้ในการผนวกรวมข้อมูลจากทั้ง 20 กระทรวงเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความเหมาะสมและสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ขณะเดียวกันกระทรวงดิจิทัลก็กำลังร่วมมือกับกระทรวงการคลังเพื่อสร้างแพลตฟอร์มการใช้งานดิจิทัลไอดีซึ่งในอนาคตจะกลายมาเป็นเครื่องมีที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการทางสังคมต่างๆ อีกด้วย
สิ่งสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่แพ้ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นก็คือเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแม้ตอนนี้เราจะมีกระทรวงศึกษาธิการที่คอยทำหน้าที่วางระบบการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยให้ก้าวทันระบบดิจิทัลแล้ว กระทรวงอื่นๆก็ยังจำเป็นต้องทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนซึ่งถือเป็นแนวหน้าในภาคเพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯเองนั้น เราก็กำลังร่วมมือกับภาคต่างๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการใช้งานเครื่องไม้เครื่องมือซอฟแวร์ต่างๆได้มากขึ้น จนท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ดร.พิเชฐกล่าว