พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยได้รับรายงานว่าคณะอนุกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินสามารถตกลงปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และเข้าซื้อหนี้ของเกษตรกรจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์ทั่วไป รวมประมาณ 36,000 ราย มูลค่าหนี้ราว 6,000 ล้านบาท โดยจะลดยอดหนี้แต่ละรายลง 50% และหยุดดอกเบี้ย ระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลสำเร็จมากที่สุดตั้งแต่ตั้งกองทุนมาในปี 2542
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกร จึงได้ตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ เมื่อเดือน พ.ค.60 เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกร แทนคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 ซึ่งประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งแต่ปี 2549-2557 แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไปได้เพียง 29,000 รายเท่านั้น จากจำนวนสมาชิกเกษตรกรที่ลงทะเบียนหนี้สินไว้ราว 460,000 ราย
"นายกฯ เน้นย้ำว่าเมื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้ว จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรลูกหนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถชำระหนี้ตามสัญญาใหม่ได้ โดยกำชับให้สำนักงานกองทุนฯ ไปหาแนวทางฟื้นฟูอาชีพร่วมกับธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมการเกษตรต่อไป" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
ทั้งนี้ กองทุนฯ จะร่างระเบียบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ใหม่ และเปิดรับลงทะเบียนเกษตรกรเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นระยะเวลา 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.เป็นต้นไป จากปกติที่เปิดให้ขึ้นทะเบียนทุกปี ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. ซึ่งในปีนี้ยังไม่ได้เปิดรับลงทะเบียน นอกจากนี้ จะยกเลิกเพดานวงเงินช่วยเหลือที่กำหนดไว้รายละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท เพราะเกษตรกรบางคนมีหนี้สินมากกว่า ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป โดยหลังจากที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว จะดำเนินการแยกประเภทหนี้ให้มีความชัดเจนโดยเร็ว