นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจขยายวงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลก ระบบการผลิตโลกและเศรษฐกิจโลก มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าเริ่มชะลอตัวลงทั้งสหรัฐฯ และจีน ผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยจะมากขึ้นตามลำดับในระยะต่อไป สงครามการค้าสหรัฐฯและจีนอาจจะขยายวงมากกว่าการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กัน เกิดกระแสการรณรงค์ต่อต้านสินค้าของประเทศคู่ขัดแย้งเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบการค้าโลกและสันติภาพ สหรัฐฯอาจบีบจีนด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดขึ้นพร้อมมาตรการกำหนดโควตา จีนอาจลดค่าเงินหยวนและเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯส่งผลต่อความปั่นป่วนผันผวนในตลาดการเงินโลก และอาจมีการใช้กฎเกณฑ์เพื่อสร้างต้นทุน และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการทำธุรกิจต่อบริษัทต่างชาติ การบูรณาการของเศรษฐกิจและระบบการค้าโลกจะถูกท้าทาย
นอกจากนี้ยังจะกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลก และจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยอย่างชัดเจนในไตรมาส 4/61 โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง เนื่องจากสหรัฐฯ จีนและประเทศต่าง ๆ อาจหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางเองภายในประเทศมากขึ้น ให้จับตาผลกระทบการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรหรือมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเกษตรหรืออาหารบางตัว ทิศทางของเศรษฐกิจโลกน่าจะเคลื่อนตัวสู่โครงสร้างกลุ่มบูรณาการ 3 ภูมิภาคมากขึ้น คือ เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และเอเชียตะวันออก
อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าจีน และสหรัฐฯ จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการบูรณาการมากขึ้นของเศรษฐกิจโลก แต่เป็นเรื่องชั่วคราวและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนได้ ขณะที่ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมรวมศูนย์หรือระบบเศรษฐกิจภายใต้อำนาจผูกขาดจะไม่สอดคล้องกับโลกแห่งอนาคต
ในช่วงหนึ่งและสองทศวรรษข้างหน้านี้ ไทยรวมทั้งอาเซียนจะเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงเข้ามามีบทบาท แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของสองมหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐฯ กุศโลบายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับไทย ประเทศซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงกับทุกประเทศอาเซียนได้ จึงต้องเผชิญทั้งความเสี่ยงและโอกาสมากกว่าประเทศอื่น ๆ หากดำเนินการหรือตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไม่ดีพอ อาจนำประเทศสูญเสียโอกาสได้
แต่หากมีการวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม มีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ในการนำพาประเทศสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของประเทศไทย หากไม่ฉกฉวยและมุ่งมั่นในบรรลุเป้าหมายแล้ว โอกาสก็จะผ่านเลยไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง การยึดมั่นนิติรัฐ การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมเป็นหลักประกันพื้นฐานสำหรับอนาคตของประเทศ
ทิศทางของเศรษฐกิจโลกน่าจะเคลื่อนตัวสู่โครงสร้างที่มีกลุ่มบูรณาการทางเศรษฐกิจใน 3 ภูมิภาคมากขึ้นตามลำดับ ได้แก่ กลุ่มเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาอันมีสหรัฐฯและกลุ่มเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เป็นผู้นำ กลุ่มอียูโดยมีเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นผู้นำ กลุ่มเอเชียตะวันออกโดยมีจีนเป็นผู้นำ มีลักษณะเป็น ไตรภาพ (Tri-Polars) และ คงต้องติดตามพัฒนาการในระยะต่อไปของภูมิภาคตะวันออกกลาง และ ทวีปแอฟริกา ว่าจะขึ้นมามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างไร