นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ได้มีมาตรการรองรับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หลังจากที่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฉบับแก้ไขยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ทันรัฐบาลชุดนี้ ส่งผลให้การกำกับดูแลธุรกิจต่างด้าวยังต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยจะพิจารณาอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ให้มีความชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม และตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอย่างเข้มงวดขึ้น
สำหรับการพิจารณาอนุญาตนั้น ได้เตรียมผ่อนปรนประเภทธุรกิจในบัญชีแนบท้าย 3 หรือธุรกิจที่คนไทยไม่พร้อมแข่งขันเพื่อให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยนำร่องใน 4 ธุรกิจ คือ ธุรกิจสำนักงานตัวแทน, สำนักงานภูมิภาค, ธุรกิจการให้บริการกับภาครัฐ และธุรกิจให้บริการบริษัทในเครือ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างช้าภายในเดือนม.ค.51
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะถอด 13 ธุรกิจออกจากบัญชี 3 เช่น ธุรกิจขายอาหารเครื่องดื่ม, โรงแรม, ธุรกิจรับจ้างผลิต, กิจการนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อเปิดให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจได้โดยไม่ต้องขออนุญาต คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนส.ค.51
"แนวทางในการดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในอนาคต คือทำอย่างไรให้การขออนุญาตมีความคล่องตัว ชัดเจนว่าธุรกิจใดที่ต่างด้าวทำได้ โดยไม่กระทบกับคนไทย ก็ควรเปิดให้ทำอย่างชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงช่องทางการให้คนไทยถือหุ้นแทนหรือเป็นนอมินี" นายคณิสสร กล่าว
ส่วนการกำกับดูแลธุรกิจต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตว่าประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น เบื้องต้นจะกำหนดประเภทธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการตรวจสอบของแต่ละปี เพื่อดูโครงสร้างของบริษัทว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ สำหรับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่ เช่น ท่องเที่ยว, หลักทรัพย์, ธนาคาร ยังคงต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เช่นเดิม
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--