นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า วิกฤติค่าเงินตุรกีมีผลกระทบทางอ้อมต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งผลกระทบจากตุรกีจะทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และตราสารหนี้ เพื่อลดความเสี่ยง แต่เชื่อว่าจะมีผลกระทบไม่มากนัก และนักลงทุนน่าจะมีการคัดกรองว่าประเทศใดที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีปัญหา มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง หรือพึ่งพาเงินกู้จากสหรัฐอเมริกา อย่างเช่น อาร์เจนตินา เป็นต้น
"ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ประสบปัญหาอย่างตุรกี ประเทศไทยยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจะแยกแยะได้ และมองว่าในวิกฤติยังมีโอกาส เพราะเมื่อนักลงทุนเทขายหุ้นและตราสารหนี้ ราคาก็จะปรับตัวลง ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นที่ยังมีผลประกอบการดี และตราสารหนี้ที่มีเครดิตเรตติ้งในระดับที่ดี"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ขณะเดียวกันผลกระทบทางอ้อมของตุรกีอาจเชื่อมโยงมาที่จีน เนื่องจากตุรกีอาจจะขอรับความช่วยเหลือจากจีน และอาจเป็นการเพิ่มแรงกดดันของสหรัฐที่มีต่อจีนให้มีข้อพิพาททางการมากขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงอีก โดยขณะนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวนแข็งค่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.80 บาท/หยวน จากเดิม 5 บาท/หยวน ซึ่งหากเงินบาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินหยวนอาจะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันด้านท่องเที่ยวของไทย เพราะนักท่องเที่ยวจีนจะมาเที่ยวไทยน้อยลง
นายกอบศักดิ์ ยังกล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วง 2-3 เดือนนี้จะเห็นผลกระทบต่อการส่งออกของจีนชัดเจนขึ้น หลังจากมาตรการทางภาษีมีผลบังคับใช้
ขณะเดียวกันยังต้องติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็น 4 ครั้งในปีนี้ จากเดิมคาด 3 ครั้ง เพราะในการประชุมล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯไม่ได้กังวลผลกระทบเรื่องสงครามการค้า และเศรษฐกิจสหรัฐฯยังขยายตัวดี ทำให้เชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯภายในไตรมาส 3/61 แต่คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯชตามกรอบประมาณการเดิมที่ธนาคารคาดการไว้
ด้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของต่างชาติ พบว่ามีการเทขายในตลาดหุ้นไทยและตราสารหนี้ระยะสั้น โดยที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการขายตราสารหนี้ระยะสั้น 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนักลงทุนต่างชาติยังถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ 1.24 แสนล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ระยะยาวได้รับความสนใจมากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มอีก 1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้สัดส่วนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้นเป็น 7.1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐฯยังต่ำกว่าไทย โดยอยู่ในระดับ 2.875% ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสนใจลงทุนในตราสารหนี้ระยะ 10 ปีของไทยที่มีผลตอบแทนเฉลี่ย 3% แต่หากสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% จะทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.125% ซึ่งจะสูงกว่าไทย อาจส่งผลกดดันให้ไทยอาจจะต้องพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยขึ้น แต่เนื่องจากเงินเฟ้อไทยยังต่ำ ทำให้ไทยยังไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้