น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวหรือ Green Industry มาตั้งแต่ปี 2554 โดยมุ่งยกระดับและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เป็นไปในแนวทางอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industry) และอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เน้นการพัฒนาพื้นที่เมืองตามศักยภาพด้านทรัพยากรและโครงสร้างด้านกายภาพ เพิ่มผลผลิต สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจการค้า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยและความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กัน ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นการพัฒนาที่สร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและสังคมทำให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน
สำหรับโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว มีทิศทางการพัฒนาไปในทางที่ดี เห็นได้จากสถิติการเข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปีปัจจุบันที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะรณรงค์ให้โรงงานเข้าสู่โครงการอุตสาหกรรมสีเขียวพร้อมเพรียงกันทั้งประเทศทั้งด้วยโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ มาตรการในการสร้างแรงจูงใจ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับหลังจากเข้าร่วมโครงการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่ขณะนี้กำลังวางแผนและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาถึงความเป็นไปได้เพื่อนำไปใช้ในอนาคต
ด้านนายบรรจง สุกรีธา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ.ได้ตระหนักถึงแนวทางปฏิบัติที่ขณะนี้จะต้องเร่งผลักดันโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้ก้าวสู่การพัฒนาเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวให้มากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย
1.ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการเน้นใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในการผลิต ใช้พลังงานที่สะอาดเพื่อลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิต และลดขั้นตอนของกระบวนการผลิต
2.ระบบขนส่งและจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ เช่น ลดการใช้หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่ฟุ่มเฟือย ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่ใช้ซ้ำหรือหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ ใช้รูปแบบการขนส่งที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ และเลือกใช้เส้นทางการขนส่งที่ประหยัดพลังงานที่สุด
3.ของเสียหรือมลพิษ มีการจัดการอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของเมือง ทั้งขยะมูลฝอย น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง หรือมลพิษอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการอยู่อาศัยและการประกอบกิจการ ป้องกัน ลดเหตุรำคาญและผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นต่อสังคมและเศรษฐกิจของเมือง
4.สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้รับการดูแลรักษาและจัดการอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่สีเขียว ปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองให้มีเอกลักษณ์สวยงาม สอดคล้องกับบริบทเมือง และเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน รวมถึงมีการสืบสารหรือถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สาธารณะเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.มีระบบการจัดการหลังหมดอายุการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น มีระบบการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดหรือไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้แมเลย มีการออกแบบให้นำสินค้าหรือชิ้นส่วนกลับมาใช้ซ้ำหรือหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ง่าย หรือหากต้องกำจัดทิ้งสามารถนำพลังงานกลับคืนมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงมีความปลอดภัยสำหรับการฝังกลบ
นายบรรจง กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 33,757 โรงงาน เฉลี่ยแต่ละปีมีการเพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 20% ส่วนในปี 2561 นี้ มีจำนวนโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ทั้งสิ้น 2,299 โรงงาน
อย่างไรก็ตาม กรอ.ยังได้เตรียมนำ "ระบบสารสนเทศสีเขียว" ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศรูปแบบใหม่ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนโครงการอุตสาหกรรมสีเชียวโดยเฉพาะ โดยจุดเด่นของระบบดังกล่าว คือสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสามารถสืบค้นข้อมูลสถานประกอบการต่างๆ ที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถลงทะเบียนเพื่อสมัครหรือต่ออายุใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวได้ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในทุกระดับให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็ว รวมไปถึงลดขั้นตอนเกี่ยวกับเอกสารในการดำเนินงานได้มากขึ้น