ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินของไทยจากความเสี่ยงในตุรกีขณะนี้ยังอยู่ในขอบเขตจำกัด แต่จะติดตามพัฒนาการของวิกฤตในตุรกีเพื่อประเมินระดับความรุนแรงและความเป็นไปได้ของผลกระทบทางอ้อมระลอกต่อๆ ไปที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงของภาคธนาคารในยุโรปกับตุรกี
ทั้งนี้ตลาดการเงินทั่วโลก ยังคงเฝ้าจับตาความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตของค่าเงิน Lira ตุรกีอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ในขณะนี้ค่าเงิน Lira จะฟื้นตัวขึ้นมาได้บางส่วน (หลังร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 7.2362 ต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา) แต่คงต้องยอมรับว่า ยังมีความเสี่ยงที่เงิน Lira จะเผชิญแรงเทขายอีกหลายระลอก ท่ามกลางข้อจำกัดของเครื่องมือ/ทรัพยากรที่จะใช้ดูแลความผันผวน ขณะที่ ความอ่อนแอของพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตุรกีเอง ก็อาจไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
สำหรับภาคธนาคารพาณิชย์ของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบน่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัดเช่นกัน เนื่องจากมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับภาคธนาคารในตุรกีที่ค่อนข้างน้อย ขณะที่ ฐานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในภาพรวม อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการทำกำไร (สะท้อนจาก ROA ซึ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.21% ในไตรมาส 2/2561) ตลอดจนมีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ สถานะเงินกองทุน (สะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 17.9%) ก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าสภาวะวิกฤตของเศรษฐกิจโลกในช่วงครั้งก่อนๆ โดยเปรียบเทียบ
ขณะที่ความเชื่อมโยงผ่านกองทุนรวม จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า การลงทุนของกองทุนรวมไทยในตุรกีมีมูลค่าประมาณ 7 พันล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมไทย และ 0.75% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม FIF
อย่างไรก็ดี หากระดับความเสี่ยงของวิกฤตตุรกีมีความรุนแรงมากขึ้นแล้ว ผลกระทบระลอกที่ 2 ที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการธนาคารของหลายๆ ประเทศในยุโรป อาจทำให้ขนาดความเชื่อมโยงของกองทุนรวมไทยที่ต้องติดตามจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) สะท้อนว่า ภาคธนาคารของหลายๆ ประเทศในยุโรป โดยเฉพาะสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี มีความเชื่อมโยงค่อนข้างสูงกับตุรกี แต่หากมองในมิติของเงินลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวมไทยแล้ว จะพบว่า ยอดคงค้างของเงินลงทุนในประเทศเหล่านั้น (รวมกับตุรกี) ยังมีสัดส่วนรวมกันไม่เกิน 1.4% ของยอดคงค้างเงินลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของกองทุนรวมไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้สถานการณ์ที่ผันผวนของสกุลเงิน Lira ของตุรกี จะมีผลกระทบต่อทิศทางความเคลื่อนไหวของสกุลเงินในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยในระยะนี้ แต่อาจกล่าวได้ว่า เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพและมีผันผวนน้อยกว่า
เป็นที่น่าสังเกตว่า แรงกดดันต่อค่าเงิน Lira โดยหลักๆ แล้ว จะมาจากปัจจัยของตุรกีเป็นสำคัญ (โดยเฉพาะความอ่อนแอของพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และประเด็นทางการเมืองภายใน) เนื่องจากในขณะที่ค่าเงิน Lira อ่อนค่าลงแล้ว 36.8% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ส.ค. 2561) แต่ภาพรวมของสกุลเงินเอเชียกลับเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าน้อยกว่า โดยอ่อนค่าแล้วประมาณ 5.0% โดยเฉลี่ยจากต้นปี และมีเงินบางสกุล เช่น รูปีอินเดีย รูเปียห์อินโดนีเซีย และเงินเปโซฟิลิปปินส์ที่อ่อนค่าค่อนข้างมาก จนทำให้ทางการของประเทศเหล่านั้นต้องเข้าดูแลเสถียรภาพของตลาดในระยะนี้ ขณะที่ ในส่วนของเงินบาทนั้น ขยับอ่อนค่าในกรอบที่จำกัด และอ่อนค่าลงเพียง 2.0% นับจากต้นปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ความเคลื่อนไหวระหว่างสกุลเงิน Lira และค่าเงินบาท จะค่อนข้างไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน (มีความสัมพันธ์ประมาณ 79%) แต่ทิศทางดังกล่าวก็น่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยที่หนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ เป็นหลัก