ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า โอกาสที่วิกฤติการเงินตุรกีจะส่งผลกระทบต่อไทยมีจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกไทยไปยังตุรกีมีน้อย และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยในปี 2560 ไทยส่งออกสินค้าไปยังตุรกีเพียง 0.5% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด โดยมีสินค้าส่งออกหลักคือ รถยนต์ และเครื่องปรับอากาศ ฉะนั้นวิกฤติการเงินตุรกีจึงกระทบต่อการส่งออกไทยในวงจำกัด นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพต่างประเทศ (external stability) อยู่ในเกณฑ์ดี และมีกันชนทางการเงิน (cushion) ที่สูง กล่าวคือ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 11% ต่อ GDP สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นของไทยอยู่ที่ 3.42 เท่า และเงินสำรองระหว่างประเทศในเดือนมีนาคม 2561 ของไทยมีจำนวณ 206.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็น 43.52% ต่อ GDP)
สำหรับผลกระทบต่อตลาดเงินไทยนั้น ความผันผวนในระยะสั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อโอกาสที่วิกฤติการเงินตุรกีจะส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่นๆ (contagion risk) จึงทำให้เกิดภาวะ risk-off sentiment โดยพบว่าดัชนีตลาดหุ้นและค่าเงินส่วนใหญ่ในประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยลด/อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา
"ในระยะข้างหน้า อีไอซีมองว่าหลังจากที่นักลงทุนคลายความกังวลต่อผลกระทบของวิกฤติในตุรกี ก็น่าจะทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดเงินไทยได้ เพราะนักลงทุนน่าจะยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง" บทวิเคราะห์ระบุ
พร้อมมองว่า ทางออกในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงินของตุรกีอาจไม่ง่ายนัก และจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน อีไอซีมองว่าการดำเนินนโยบายของตุรกีเพื่อแก้ไขปัญหาจะมีความยากลำบาก โดยทางเลือกเชิงนโยบายอาจมีด้วยกัน 3 ทาง คือ 1) การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอการอ่อนค่าของค่าเงินลีราตุรกี และลดอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศลง อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นมากในอนาคต ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะชะลอลง หรืออาจถึงขั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
2) การออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (capital control) เพื่อลดการไหลออกของเงินทุนจากตุรกีและชะลอการอ่อนค่าของค่าเงิน อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายนี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ประเทศได้ในเวลาเดียวกัน และ 3) การขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทั้งนี้ รัฐบาลตุรกีเคยปฏิเสธทางเลือกนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หากตุรกียังคงเผชิญกับแรงกดดันจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ก็อาจทำให้รัฐบาลตุรกีจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจาก IMF ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป เพราะตุรกีจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ IMF อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ตุรกีเผชิญกับปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจเป็นเวลานาน สะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลในระดับสูงต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ที่สูง และสัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ
นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลต่อประเด็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากขึ้น หลังความขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรง โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรตุรกีด้วยการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากตุรกีเป็น 50% และ 20% ตามลำดับ เพื่อกดดันตุรกีในประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะเดียวกันตุรกีก็ได้ประกาศจะตอบโต้กลับด้วยการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ประกอบด้วย ภาษีรถยนต์ 120% ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 140% และภาษีบุหรี่ 60% เช่นกัน ด้านค่าเงินลีราตุรกีเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าอย่างรุนแรงถึง 63% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 โดยเป็นการอ่อนค่า 24% นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561
อีไอซี ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ปัญหาวิกฤติการเงินตุรกีมีต้นตอมาจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศตุรกีเป็นหลัก ขณะที่ประเด็นทางการเมืองระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ทำให้ความกังวลต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานและยังไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้ธนาคารกลางสูญเสียความน่าเชื่อถือ (policy credibility)