นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ขสมก.ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสาธิตและประเมินผลการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้านำร่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจะนำรถโดยสารไฟฟ้า ของบริษัท Edison Motors จำกัด จากประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 1 คัน มาทดลองวิ่งให้บริการประชาชนในเส้นทางเดินรถของ ขสมก.จำนวน 6 เส้นทาง ระหว่างเดือนสิงหาคม 2561 ถึงเดือนมีนาคม 2562 เพื่อศึกษา ข้อมูลอัตราการสิ้นเปลืองพลังงาน และสมรรถนะของรถโดยสาร โดยจัดเก็บค่าโดยสารตามอัตราปกติ รายละเอียด ดังนี้
1. สาย 137 (วงกลมรามคำแหง - ถนนรัชดาภิเษก) วิ่งระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม - 6 กันยายน 2561
2. สาย 36 (ห้วยขวาง - ท่าน้ำสี่พระยา) วิ่งระหว่างวันที่ 7 - 27 กันยายน 2561
3. สาย 73 (ห้วยขวาง - สะพานพุทธ) วิ่งระหว่างวันที่ 28 กันยายน - 18 ตุลาคม 2561
4. สาย 204 (กทม.2 - ท่าน้ำราชวงศ์) วิ่งระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายน 2561
5. สาย 138 (พระประแดง - หมอชิต2) วิ่งระหว่างวันที่ 7 ธันวาคม 2561 - 3 มกราคม 2562
6. สาย 50 (พระราม 7 - สวนลุมพินี) วิ่งระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 28 มีนาคม 2562
ทั้งนี้ รถโดยสารไฟฟ้าคันที่นำมาทดลองวิ่ง มีขนาด 11 เมตร 23 ที่นั่ง มีการออกแบบในลักษณะ Universal Design เพื่อรองรับ การใช้บริการของคนพิการและผู้สูงอายุ มีทางลาดแบบอัตโนมัติ พร้อมที่จอดรถวีลแชร์ จำนวน 2 คัน เพื่อให้คนพิการ สามารถเข็นรถวีลแชร์ขึ้น - ลงรถได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และรถคันดังกล่าวเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน 100% จึงปราศจากการปล่อยมลพิษในอากาศ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่ง ขสมก.จะนำผลการศึกษาในครั้งนี้ มาใช้เป็นฐานข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนเส้นทางเดินรถโดยสารไฟฟ้าในอนาคตต่อไป
สำหรับรถต้นแบบนี้ ประกอบที่ประเทศเกาหลีใต้ มีต้นทุนที่ประมาณ 12 ล้านบาท ใช้เวลาชาร์จไฟฟ้า 45 นาที วิ่งได้ระยะทาง 170 กม. ซึ่งปัจจุบันมีจุดชาร์จไฟฟ้า 3 แห่ง คือ ที่อู่พระราม 9 (ขสมก.) , การไฟฟ้าบางกรวย,เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยค่าลงทุนตู้จ่ายไฟฟ้าและสายส่งประมาณ 2ล้านบาทเศษ
ในวันนี้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เป็นประธานเปิดการสาธิตและประเมินผลการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้า ภายใต้โครงการ "การพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตและการใช้รถโดยสารไฟฟ้าในประเทศไทย"ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน คือ ขสมก. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยตามแผนฟื้นฟู ขสมก. จะทยอยจัดหารถโดยสารใหม่ เป็นไฮบริด และไฟฟ้า ทดแทนรถดีเซล ใน 4 ปี ซึ่งจะทำให้ประหยัดต้นทุนค่าพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการขสมก.แล้ว ขณะนี้ ขสมก. ได้จัดทำแผนการจัดหารถโดยสารใหม่ เพื่อทดแทนรถเก่า ซึ่งบอร์ด ขสมก.เห็นชอบแล้ว อยู่ในขั้นตอนสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอครม.ขอทบทวนแผนจัดหารถเดิม จาก 3,183 คัน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาทเป็น 3,000 คัน วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท
พร้อมกันนี้ จะทำแผนรายละเอียดการบริหารจัดการหนี้กว่า 1.07 แสนล้านบาท เพื่อเสนอครม.ต่อไปด้วย โดยหลักการจะเสนอขอให้รัฐรับหนี้ในส่วนที่เกิดจากนโยบายของรัฐ เช่น การถูกควบคุมค่าโดยสาร การให้บริการรถเมล์ฟรี และภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากนโยบายภาครัฐ ซึ่งมีสัดส่วน 80% ของหนี้ทั้งหมด ซึ่งรัฐอาจพิจารณาตั้งงบประมาณรายปี ทยอยใช้หนี้ให้สอดคล้องกับหนี้ที่ครบกำหนดชำระ
"การมีรถใหม่ที่ใช้พลังงานที่ถูกลง จะยกระดับการให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่ในส่วนของการลดต้นทุนดำเนินงานนั้นจะยังไม่เห็นในช่วงแรก เพราะมีภาระค่าลงทุนและค่าเสื่อม แต่คาดว่าในปี 62 เป็นต้นไป จะเริ่มลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงานลงได้ ซึ่งได้ตั้งแผนโครงการเกษียณก่อนอายุ หรือ เออรี่รีไทล์ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา โดยจากการสำรวจความเห็นพรักงานสนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 700-800 คน โดยปี 62 เตรียมตั้งงบรองรับพนักงานเออร์รี่ฯ 300-400 คน ส่วนปี 63 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,000-3,000 คน แต่ทั้งนี้ จะต้องขึ้นกับความสมัครใจด้วย ซึ่งจะสรุปรายละเอียดเสนอบอร์ดได้ในเดือนต.ค.นี้
สำหรับแผนการจัดหารถใหม่ 3,000 คัน ประกอบด้วย จดซื้อรถ NGV จำนวน 489 คัน (จัดหาแล้ว) ,เช่ารถ NGV 300 คัน ,เช่ารถไฮบริด 400 คัน ,ซื้อ รถไฮบริด 1,453 คัน ,ซื้อรถเมล์ไฟฟ้า 35 คัน และปรับปรุงรถเก่า จำนวน 323 คัน