นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในการเสวนาเรื่อง "เศรษฐกิจปีใหม่กับรัฐบาลใหม่" ในหัวข้อ "การบริหารการคลังกับบทบาทภาครัฐ" ว่า รัฐบาลใหม่ควรมีการตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมอีก 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีหน้ายังเป็นปีที่จำเป็นในการใช้งบประมาณรายจ่ายผลักดันการลงทุนให้ชัดเจนมากกว่านี้
รัฐบาลชุดใหม่ควรจะรีบเสนอเพิ่มงบกลางปีให้ทันภายในไตรมาส 1/51 เพื่อที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ เพื่อลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่จะชะลอ ตัวเนื่องจากปีหน้ายังมีความเสี่ยงจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากเศรษฐกิจโลกและสหรัฐที่เกิดจากผลกระทบปัญหาซับไพร์ม ซึ่งขณะนี้ถือว่ายังเปราะบางมาก จึงจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยเพื่อให้กลไกต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้
อย่างไรก็ดี การตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มอีก 8 หมื่นล้านบาทจะทำให้งบประมาณขาดดุลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอีก 0.9% เพราะฉะนั้น จะทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณในปี 51 คิดเป็น 2.72% ต่อจีดีพี จากเดิม 1.84% แต่ต้องมีเงื่อนไขว่างบกลางปีดังกล่าวจะต้องมีเพื่อใช้ในการลงทุนเท่านั้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชน ลอจิสติกส์ การสื่อสาร และการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงการยกระดับการศึกษา
นายชัยวัฒน์ คาดการณ์ผลจากการเพิ่มงบกลางปีว่า จะทำให้เศรษฐกิจปี 51 ปรับเพิ่มขึ้น 0.42% จากที่คาดการณ์ไว้ และถ้าเศรษฐกิจในปีหน้าได้รับผลกระทบจากความสี่ยงที่ได้กล่าวไปแล้ว การเพิ่มงบฯ กลางปีดังกล่าวก็จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไว้ได้ด้วย ส่วนผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อคงมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.9%
นอกจาก การจัดทำงบกลางปีแล้ว ก็ควรจะใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลต่อไปในปี 52 เพื่อให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายทางเศรษฐกิจให้มีอัตราเติบโต เพราะจากพื้นฐานของไทยยังมีศักยภาพที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ถึง 5-6%
“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบฯ กลางปีในปี 51 และงบขาดดุลต่อเนื่องในปี 52 จะต้องทำให้อยู่ในกรอบการขาดดุลไม่เกิน 1.5% ของจีดีพีและทำงบสมดุลในปี 53 ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่จะต้องยอมให้งบขาดดุลเพียงแค่ชั่วคราวและกลับมาเป็นงบฯสมดุลได้ในปี 53 คือต้องเป็นการดูแลสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ให้เกิน 40% รวมทั้งสัดส่วนของงบลงทุนในงบประมาณจะต้องมีอย่างน้อย 25%" นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับนโยบายภาษีต้องจูงใจให้เกิดการลงทุน อย่างกรณีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรมีการยืดเวลาให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีออกไปอีกเป็นปี 52 ส่วนบริษัทนอดตลาดฯ ก็ควรมีการออกมาตรการสนับสนุน เช่น ให้สามารถนำรายจ่ายที่ถือเป็นรายจ่ายการลงทุนมาขอลดหย่อนภาษีได้ โดยมีเพดานกกำหนดให้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 25%
ขณะที่ ธุรกิจ SME ควรให้การยกเว้นการจัดเก็บภาษีใน 2 ปีแรกสำหรับธุรกิจเกิดใหม่ โดยเริ่มเก็บในปีที่ 3 เพื่อให้เติบโตได้อย่างเต็มที่ก่อน
ด้านนโยบายรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลควรมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้การบริหารจัดการในรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โดยมีการประเมินอย่างจริงจัง
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--