นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานกิติมศักดิ์ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.)กล่าวในการสัมมนา"เศรษฐกิจปีใหม่กับรัฐบาลใหม่"ว่า รัฐบาลใหม่ควรพิจารณาแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ใช้ดูแลค่าเงินบาท และการถือครองเงินตราต่างประเทศในขณะนี้ว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหากเห็นว่าเหมาะสมแล้วก็ควรจัดประชุมทำความเข้าใจแก่นักลงทุนและชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบเป็นการทั่วไป เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ประชาชนและนักลงทุนได้วางแผนในการทำธุรกิจในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม จากการที่ ธปท.ปรับนโยบายการถือครองสกุลเงินตราต่างประเทศ ทำให้ในสิ้นปีนี้ ธปท.จะมีผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเพียง 5,000-10,000 ล้านบาทเท่านั้น จากที่เคยขาดทุนถึง 120,000 ล้านบาท ณ 31 ส.ค.50
ทั้งนี้ จากการติดตามภาวะค่าเงินบาทและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย พบว่าตั้งแต่เดือน ส.ค.50 เป็นต้นมา ธปท.ได้ปรับโครงสร้างการถือครองเงินตราต่างประเทศ โดยลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลงเหลือเพียง 55% เพิ่มการถือครองยูโรเป็น 35% และเงินเยน 10% เนื่องจากค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับ 3 สกุลเงินหลักแล้วมีทิศทางการอ่อนค่าลง และแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในกลางเดือนธ.ค.50
นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ปรับโครงสร้างการดูแลนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยตั้งเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนแบบใหม่ด้วยการเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลหลักทั้ง 3 สกุล คือ ดอลลาร์, ยูโร และเยน จึงคาดว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์เพียง 1.7% จากวันที่ 31 ส.ค.50 ขณะที่เงินบาทจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโร 0.8% และ 4% เมื่อเทียบกับเยน โดยคาดว่าถึงสิ้นปีนี้(28 ธ.ค.50) เงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 33.61 บาท/ดอลลาร์
นายโอฬาร ยังได้เสนอแนะรัฐบาลใหม่ให้พิจารณาแนวทางที่ ธปท.ใช้สำหรับดูแลค่าเงินบาท และแนวทางการถือครองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหากเห็นว่าการดำเนินนโยบายของธปท.ในขณะนี้เหมาะสมแล้ว ก็ควรจัดประชุมทำความเข้าใจแก่นักลงทุนและชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบเป็นการทั่วไป เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ประชาชนและนักลงทุนได้วางแผนในการทำธุรกิจในอนาคตได้
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--