ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ก.ค.61 ที่ 93.2 จาก 91.7 ในมิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2018 10:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.ค.61 อยู่ที่ระดับ 93.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 91.7 ในเดือนมิ.ย.61 โดยค่าดัชนีฯ สูงสุดในรอบ 62 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.58 ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

จากการสำรวจพบว่า ในเดือนก.ค.ผู้ประกอบการเห็นว่ากำลังซื้อภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค ส่งผลดีต่อการบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลและโลหะการและเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่ามีความต้องการสินค้าไทยของประเทศเพื่อนบ้านผ่านการค้าชายแดน รวมทั้งการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้ายังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 104.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.7 ในเดือนมิ.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกระทบต่อต้นทุนประกอบการ ภาวะน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อระบบคมนาคมขนส่ง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังต้องติดตามและเตรียมแผนรองรับกับมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่างๆ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแรงงานด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และ New S-cruve เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC), เจรจาเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการค้ากับประเทศที่เป็นตลาดส่งออกเดิม เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันและรักษาตลาดเดิมไว้ รวมทั้ง เปิดเจรจาการค้าเสรี FTA กับตลาดใหม่เพื่อรับมือสงครามการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ