นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 2/61 ขยายตัว 4.6% จากตลาดคาดเติบโต 4.4% ขณะที่ไตรมาส 1/61 ขยายตัว 4.9% ส่งผลให้ครึ่งปีแรก GDP ขยายตัวที่ 4.8%
ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม การขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกสินค้า และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐบาล ในขณะที่การส่งออกบริการชะลอตัว ในด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตร และสาขาการขายส่ง การขายปลีกและการซ่อมแซมขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น สาขาอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการขนส่งและการคมนาคมชะลอตัวตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่สาขาการก่อสร้างขยายตัวดีต่อเนื่อง เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว
"การบริโภคในไตรมาส 2 ปีนี้ ปรับตัวแรงกว่าที่เราได้คาดไว้ เป็นผลจากรายได้ครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น จากรายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นเพราะราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวดีขึ้น เกษตรกรจึงมีรายได้ดีขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อสิ้นปี โดยรายได้ภาคเกษตรในไตรมาส 2 พลิกมาเป็นโต 6.1% ถือว่าบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส นอกจากนี้มาตรกรช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยก็ทำให้มีการใช้จ่ายสูงถึงระดับหมื่นล้านบาทในไตรมาสนี้" เลขาธิการ สศช.กล่าว
นายทศพร กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้ 4.5% ถือว่าเติบโตได้แรงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งทำให้สภาพัฒน์ปรับประมาณการณ์การบริโภคภาคเอกชนทั้งปี 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 3.7% สำหรับการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตขึ้นนี้ เป็นผลมาจากรายได้ครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น อันเนื่องมาจากผลผลิตภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส
นอกจากนี้ ภาวะการจ้างงานในช่วงไตรมาส 2 ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับมาตรการของภาครัฐในการดูแลและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้การบริโภคภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นมาจากมาตรการรถยนต์คันแรกที่ได้สิ้นสุดระยะเวลาโครงการแล้ว จึงเป็นโอกาสให้ประชาชนเริ่มสนใจที่จะปรับเปลี่ยนหรือซื้อรถยนต์คันใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศในไตรมาส 2 ปีนี้ เพิ่มขึ้นถึง 25% สูงสุดในรอบ 5 ปี
สภาพัฒน์ ระบุว่า ไตรมาส 2/61 การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การลดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่น ๆขยายตัวดีต่อเนื่อง ด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวต่อเนื่องจากนไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายหมวดค่าใช้สอย และหมวดค่าตอบแทน (ค่าจ้าง เงินเดือน) เพิ่มขึ้น อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ 22.8% (สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 22.0%)รวมครึ่งแรกของปี 61 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.1% และการใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัว 1.6%
ด้านการลงทุนรวม ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้า ๆ จากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ ส่วนการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น รวมครึ่งแรกของปี 61 การลงทุนรวมขยายตัว 3.5%
การส่งออกสินค้า ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) และออสเตรเลีย รวมครึ่งแรกของปี 61 การส่งออกขยายตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ภาคเกษตร ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากสภาพอากาศ รวมทั้งปริมาณน้ำชลประทานและปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และอุปสงค์ต่างประเทศที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส
สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น สอดคล้องกับการชะลอตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วง 30-60% ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่า 60%) ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตไตรมาสที่สองที่สูงสุดนับจากปี 57 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นสำคัญ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมครึ่งแรกของปี 61 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาขาการขนส่งและการคมนาคม ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม ขณะที่บริการโทรคมนาคมขยายตัวสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม รวมครึ่งแรกของปี 61 การผลิตสาขาการขนส่งและการคมนาคมขยายตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน