พาณิชย์ แนะธุรกิจโลจิสติกส์ปรับตัวพัฒนาศักยภาพสู่ E–Logistics เพื่อรองรับการขยายตัวของอี-คอมเมิร์ซ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2018 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมฯ ได้ร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยและบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ"E-Commerce and Logistics Disruption" ในวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งตรงกับช่วงที่จัดงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ TILOG-LOGISTIX 2018 ระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2561

เนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจได้ขยายขอบเขตจากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) สู่พาณิชย์ดิจิทัล (Digital commerce) ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ปี 2560-2564) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่เน้นการเสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำ E - Commerce พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกทางการค้าสู่สากล

"การสัมมนาครั้งนี้จะนำเสนอมุมมองที่หลากหลาย อาทิ ความคาดหวังที่ธุรกิจ E- Marketplace มีต่อผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากบริษัทโลจิสติกส์ที่ประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกับ E-Marketplace Platform ระดับโลก รวมถึงการนำเสนอแนวคิดการพัฒนา E-Logistics ตามมาตรฐานสากลเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศในอนาคต จากวิทยากรชั้นนำในวงการ E - Commerce และโลจิสติกส์"

นายจันทิรา กล่าวว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสู่ E – Logistics เพื่อรองรับการขยายตัวของ E - Commerce และสนองตอบความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลาย โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการโลจิสติกส์และกระบวนการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดการข้อมูล (Big Data) และธุรกรรมทางการเงิน

ปัจจุบัน ความคาดหวังที่ผู้ใช้บริการมีต่อธุรกิจโลจิสติกส์ มิได้จำกัดแค่การบริหารจัดการด้านการขนส่งเท่านั้น หากแต่มีแนวโน้มที่จะขยายขอบเขตถึงการบูรณาการความต้องการ ความสนใจและประสบการณ์ที่ผู้บริโภคมีต่อสินค้าและบริการ (Demand Generation) ร่วมกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจและกำหนดกลยุทธ์การตลาดให้มีประสิทธิภาพตรงเป้าหมาย ขณะเดียวกันผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยก็จะมีขีดความสามารถสูงขึ้น มีโอกาสสร้างพันธมิตรกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ข้ามชาติ รักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศรวมถึงขยายธุรกิจสู่ตลาดเป้าหมายในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ