ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้น 1 ครั้งในช่วงไตรมาสสี่ของปีนี้จาก 1.5% เป็น 1.75% เพื่อเพิ่ม policy space ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีและอัตราเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมายแล้ว
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสองขยายตัว 4.6% ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้กว่า 4.5% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคสินค้าคงทน ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ที่ขยายตัวกว่า 11.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการครบกำหนด 5 ปีของนโยบายรถคันแรก ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2013
ขณะที่การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนก็เริ่มชัดเจนขึ้น จากตัวเลขการขยายตัวได้กว่า 3.2% ซึ่งถือว่าปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่การลงทุนภาคเอกชนเฉลี่ย หดตัว 0.5% ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวเป็นการขยายตัวจากทั้งการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ และภาคก่อสร้าง นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐก็เริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้นได้จากที่ชะลอไปบ้างเมื่อปีที่แล้ว
สำหรับภาคต่างประเทศแม้การท่องเที่ยวจะชะลอลงบ้างจากปัจจัยชั่วคราว แต่ก็ยังมีแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง
การที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีเกินระดับศักยภาพที่ 3-4% ได้ต่อเนื่อง และไม่ได้มาจากอุปสงค์จากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท.ที่ 1-4% ได้ จะเป็นแรงหนุนสำคัญให้ ธปท.เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้
"เศรษฐกิจไทยไตรมาสสองที่ขยายตัวกว่า 4.6% โดยไม่ได้มาจากอุปสงค์ต่างประเทศ เช่น การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง จะเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนให้ธนาคารแห่งประเทศทไย (ธปท.) สามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาสสี่ของปีนี้" ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ระบุ