นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดชุมพร รับข้อเสนอจากภาคเอกชนที่ขอสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ 28 โครงการ แบ่งเป็น ทางบก 17 โครงการ ทางน้ำ 4 โครงการ และทางอากาศ 1 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 128,391 ล้านบาท
ทั้งนี้ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอใหม่ในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านรถไฟ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัดภาคใต้ในโครงการรถไฟเชื่อมต่อชุมพรกับท่าเรือน้ำลึกระนอง โดยทางกระทรวงคมนาคมจะมีการออกแบบรายละเอียดและทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในปี 62 และเริ่มต้นก่อสร้างในปี 63 เพื่อเชื่อมต่อ 2 ฝั่งและนำสินค้าไปยังท่าเรือระนอง ซึ่งถือเป็นประตูสู่การค้าขายและเดินเรือ โดยมีโครงการพัฒนาท่าเรือระนองท่าที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพตู้ขนส่งสินค้าจาก 7 หมื่นตู้เป็น 5 แสนตู้ และได้เสนอขอให้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น (พังงา) การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ดอนสัก-สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้มีแผนเชื่อมต่อเส้นทางยัง จ.พังงา กระบี่ ไปถึงสถานีรถไฟกันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ภาคเอกชนได้เสนอขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทางทั้งหมด 345 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 83,506 ล้านบาท
ทั้งนี้ภาคเอกชนเสนอให้เร่งรัดการศึกษาออกแบบการก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภาคใต้ โดยแบ่งโครงการเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วยระยะที่ 1 ช่วงนครปฐม-ชะอำ ช่วงปี60-64 จะทำเป็นโครงการพีพีพี และเตรียมเสนอ ครม.ระยะที่ 2 ช่วงชะอำ-ชุมพร ช่วงปี 65-69 ระยะที่ 3 ช่วงชุมพร-สงขลา ช่วงปี 70-74 และระยะที่ 4 ช่วงสงขลา-นราธิวาส ช่วงปี 75-79
ส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางอากาศ ภาคเอกชนมีข้อเสนอให้เร่งรัดการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร เพิ่มลานจอดเครื่องบิน อาคารจอดรถยนต์และเส้นทางเข้า-ออก ท่าอากาศยาน เนื่องจากมีปริมาณผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ทางรัฐบาลมีแผนปรับปรุงท่ากาศยานกระบี่ภายในปี 61 โดยจะเพิ่มอาคารผู้โดยสารในประเทศอีก 1 อาคาร และแผนปรับปรุงท่ากาศยานนครศรีธรรมราชและท่ากาศยานตรังในปี 2562 ต่อไป
สำหรับการพัฒนาชายฝั่งทั้งสองฝั่งในโครงการก่อสร้างและพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย (Thailand Rivera) ระยะทาง 515 กิโลเมตร เหลือการดำเนินการก่อสร้าง 177 กิโลเมตร ที่จะถึง จ.ชุมพร ซึ่งภาคเอกชนได้มีการเสนอให้มีการก่อสร้างลงมาถึง จ.สงขลา ซึ่งที่ประชุมได้รับไว้พิจารณา