(เพิ่มเติม) นายกฯ เผยยังไม่มีการอนุมัติโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ชี้ข้อเสนอเอกชนส่วนใหญ่อยู่ในแผนแม่บท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 21, 2018 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ที่จังหวัดชุมพรว่า ในวันนี้ไม่ได้มีการอนุมัติโครงการใดทั้งสิ้นเป็นเพียงการมารับฟังข้อเสนอของภาคเอกชนทั้ง 11 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล) โดยโครงการส่วนใหญ่ 80% ที่ภาคเอกชนเสนอมีอยู่ในแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งในวันนี้รัฐบาลได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อใช้สำหรับการพิจารณาและการพัฒนาโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้รัฐบาลต้องการเร่งรัดโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกด้าน รวมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร และต้องบริหารจัดพืชเกษตรสำคัญ คือ ข้าว ปาล์ม ยางพารา อ้อย และข้าวโพด โดยมอบหมายให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อมูล Big Data วิเคราะห์ข้อมูลในการทำการเกษตร รองรับกฎกติกาของนานาชาติ ส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมนั้นขอให้เป็นไปตามการบริหารจัดการของรัฐบาล และเป็นไปตามความต้องการและประสิทธิภาพของคนในพื้นที่ พร้อมทั้งยืนยันว่า รัฐบาลทำตามกรอบและแผนงานทุกอย่าง

ส่วนเรื่องของโครงการการทำประชารัฐและไทยนิยมมีความก้าวหน้าเป็นจำนวนมาก ประชาชนเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น การลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ ซึ่งได้มีการดำเนินงานระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชน และแม้ว่าการประชุม กรอ.ไม่ได้อนุมัติทุกโครงการที่นำเสนอมา แต่ยืนยันว่าเศษฐกิจในประเทศดีขึ้นมาก และขอประชาชนอย่าทำให้ประเทศถอยหลังด้วยเรื่องการเมือง ไม่เช่นนั้นประเทศจะกลับสู่ที่เก่า

พร้อมย้ำด้วยว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง หรือจะไปเลือกตั้งแข่งกับใคร

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงข้อเสนอ 5 ด้านในประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ร่วมกับผู้ว่าราชการ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร ประกอบด้วย 1.ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สนับสนุนด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการค้าชายแดนภาคใต้ เพื่อขอรับการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมทางถนน ทางราง ทางน้า และทางอากาศ รวมทั้งสิ้น 28 โครงการ โดยมีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน 2. ด้านการท่องเที่ยว ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงกลาโหม พิจารณาการพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลักโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

3. ด้านการยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พิจารณารายละเอียดในการจัดตั้ง Oil Palm City รวมมทั้งการสร้าง Smart Farmer ต้นแบบการพัฒนาเมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพารา และการจัดทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์เกษตร เกษตรอุตสาหกรรม และแปรรูปเกษตรครบวงจร 4.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นเร่งด่วนการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยให้คำนึงถึงความพร้อมของพื้นที่ดำเนินการ การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ และต้องไม่เป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต และ 5. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาเร่งรัดสนับสนุนตามความเหมาะสมและความจำเป็นเร่งด่วนตามที่เสนออ และให้เร่งรัดการพิจารณาการสนับสนุนการบริหารจัดการลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง ลุ่มน้ำปากพนัง และ ลุ่มน้ำชุมพร ทั้งลุ่มน้ำหลักและคลองสาขาอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิจารณาจัดทำแผนปฎิบัติราชการให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฎิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และ ฉบับต่อไป เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ