ครม.รับทราบกรอบแนวทาง-แผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ 4 ด้าน ของสภาพัฒน์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 21, 2018 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.ชุมพร ได้รับทราบถึงแนวทางและแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งพบว่าสภาพทั่วไปของเศรษฐกิจภาคใต้ มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 143,544 บาท ภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มเล็กลง ส่วนภาคบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาคอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรขั้นพื้นฐาน แต่การค้าชายแดนสามารถทำมูลค่าได้สูงสุดของประเทศ โดยในปี 60 พบว่ามูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลซีย สูงถึง 564,628 ล้านบาท คิดเป็น 52.2% ของมูลค่าการค้าชายแดนของประเทศ โดยเฉพาะที่ด่านปาดังเบซาร์ และด่านสะเดา

การวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ภาคใต้ พบว่ามีทั้งความเชื่อมโยงด้านการค้าและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ โดยมีจุดแข็งคือ ชายทะเลภาคใต้ถือว่าอยู่ในจุดกึ่งกลางระหว่างเอเชียตะวันออกกับเอเชียใต้ เป็นประตูสู่สองฝั่งของเอเชีย รวมทั้งเป็นประตูการค้าที่เชื่อมโยงทั้งมาเลเซียและเมียนมา

การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ มีกรอบในการพัฒนาไว้ 4 ด้าน คือ 1. Western Gateway จะเป็นการพัฒนาให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่าย และใช้ประโยชน์ในการเป็นประตูส่งสินค้าออกไปทางฝั่งตะวันตก หรือ BIMSTEC (บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา ไทย) รวมถึงประเทศจีนด้วย

2. Bio Base Industry โดยจะพัฒนาทั้งการแปรรูปการเกษตร การประมง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาฐานอุตสาหกรรมชีวภาพที่ต่อยอดจากการผลิตน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าสูงขึ้น, การยกระดับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางของงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน และยางพารา, ยกระดับเกษตรกรรายย่อยให้มีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปให้มากขึ้น

3. Royal Coast Andaman Cruise โดยจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่กับแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเชื่อมโยงกับอันดามัน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือริเวียร่าเมืองไทย

4. Green and Culture จะมีการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ป่าไม้ และป่าชายเลน

โดยในกรอบการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน ได้มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานไว้ 2 เป้าหมาย คือ 1.ภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร และระนอง ซึ่ง 2 จังหวัดนี้จะผลักดันให้เป็น Smart Living City เพื่อเป็นประตูเชื่อมระหว่างชุมพร-ระนอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ช่วยร่นระยะเวลาได้เกือบ 3 เท่าตัว ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟระหว่างชุมพร - ระนอง 2. ภาคใต้ตอนล่าง คือ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่ง 2 จังหวัดนี้จะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม

"เราจะกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนา โดยให้ชุมพร และระนอง เน้นในเรื่องของ Western Gateway และ Royal Coast Andaman Cruise ส่วนสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จะเน้นในเรื่องของ Bio Base Industry และ Green and Culture เพื่อให้ส่งผลไปยังอีก 2 กลุ่มจังหวัด โดยกลุ่มจังหวัดแรกคือ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ส่วนกลุ่มที่สอง คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จาก 2 พื้นที่นี้ ทำให้ได้รับประโยชน์ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหลักการที่สภาพัฒน์ได้ชี้แจงไว้" พล.ท.สรรเสริญ ระบุ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาพัฒน์ได้มีการกำหนดแผนการดำเนินงานในเบื้องต้นไว้ดังนี้

1.จะศึกษาความเหมาะในรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยสภาพัฒน์จะใช้เวลาในการศึกษารวม 8 เดือน คาดว่าแล้วเสร็จในเม.ย.62

2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเบื้องต้นนั้น ในการศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน หัวหิน-ประจวบฯ และประจวบฯ-ชุมพร จะกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 65 ส่วนการพัฒนารถไฟสายใหม่ เส้นทางชุมพร-ระนอง จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 62, การก่อสร้างท่าเทียบเรือระนอง จะใช้เวลาศึกษาประมาณ 8 เดือน โดยให้แล้วเสร็จภายในเม.ย.62, แนวทางการพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานระนอง โดยจะศึกษาให้แล้วเสร็จในเม.ย.62 เช่นกัน

ส่วนโครงการท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ที่ขณะนี้ได้เริ่มศึกษาไปบ้างแล้วนั้น จะกำหนดให้ศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 62 ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแวะพักและสิ่งอำนวยความสะดวก จะศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปี 63 และการศึกษาแนวทางการพัฒนาเมืองระนองให้เป็น Smart Living City จะมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปศึกษารายละเอียดร่วมกันให้แล้วเสร็จภายในเม.ย.62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ