สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว โดยหลังจากนี้จะนำทูลเกล้าฯระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และหลังจากนั้นจะใช้เวลา 180 วันก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในบางประเด็น โดยกำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินสามารถเข้าช่วยแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินได้ใน 4 ปีแรกหลังจากปิดกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันคุ้มครองเงินฝากภายใต้มติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด
การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เนื่องจากมีความกังวลว่าระบบสถาบันการเงินอาจเกิดปัญหาขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านกองทุนฟื้นฟูฯสู่สถาบันประกันเงินฝาก
นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักกฎหมายและคดี ธปท.เชื่อว่า ในระยะ 4 ปีหลังปิดกองทุนฟื้นฟูฯคงไม่เกิดปัญหาจนมีผลให้ธนาคารพาณิชย์ปิดกิจการ
แต่เนื้อหาส่วนหนึ่งในพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินที่ผ่านการพิจารณาของสนช.ไปก่อนหน้านี้ กำหนดว่าเมื่อเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) ของธนาคารพาณิชย์ต่ำกว่า 8.50% ต้องส่งแผนฟื้นฟูกิจการมายังธปท. หากลดเหลือ 5.0% ธปท.เข้าควบคุมกิจการยกเว้นกรณีมีเงินเพิ่มทุนเข้ามาและสั่งปิดกิจการเมื่อ BIS ต่ำกว่า 3.0% ซึ่งรัฐบาลสามารถเข้าไปช่วยเหลือด้านฐานะได้
“ถ้ารัฐบาลเข้าไปแก้ไขปัญหาฐานะให้แบงก์ ก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเท่ากับเงินงบประมาณ ดังนั้นก็ต้องดูความจำเป็นจริงๆ เพราะหากแบงก์ปิดอาจกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม" นายชาญชัยระบุ
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวไม่ได้เป็นการเข้าไปอุ้มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพราะธนาคารพาณิชย์ทุก
แห่งต่างต้องปรับตัวสร้างความเข้มแข็งและรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ โดยเฉพาะการใกล้เข้าสู่การเปิดเสรีการเงิน
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--