กนง.หารือเงื่อนไข-จังหวะเวลาเหมาะสมปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ปกติหลังผ่อนคลายมานาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 22, 2018 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค.61 ซึ่งมีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศให้ขยายตัวได้เข้มแข็งต่อเนื่อง และมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายได้

ขณะที่กรรมการ 1 คนที่เห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% นั้น ระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอและภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

ในที่ประชุม กนง.ได้อภิปรายเกี่ยวกับเงื่อนไขและจังหวะเวลาที่เหมาะสมของการเริ่มปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต โดยเห็นว่าหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย ความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะเริ่มลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้าง policy space ในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ

สำหรับการตัดสินนโยบายการเงินในครั้งนี้ กนง.ได้พิจารณาจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวดีขึ้น หลังจากที่ชะลอลงชั่วคราวในไตรมาส 1/61 โดยขยายตัวจากด้านปริมาณตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีต่อเนื่องและด้านราคาตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น

ขณะที่นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมามีผลเฉพาะสินค้าบางรายการ เช่น เครื่องซักผ้าและแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ในระยะข้างหน้า การส่งออกยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการย้ายฐานการผลิตเพิ่มเติมของบางอุตสาหกรรมมายังไทย อาทิ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องในเกือบทุกหมวด ตามการใช้จ่ายของกลุ่มครัวเรือนรายได้ปานกลางถึงสูงเป็นสำคัญและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและหมวดพลังงาน นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนขึ้น ตามความคืบหน้าของการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐยังมีส่วนสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ โดยการอุปโภคภาครัฐขยายตัวใกล้เคียงเดิม แต่การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากที่เคยประเมินไว้ จากปัญหาประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของหน่วยงานภาครัฐ ประกอบกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางโครงการอาจทำได้ล่าช้ากว่าที่คาด ทั้งนี้ การส่งออกภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่อาจต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ตเป็นสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากจีน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น โดยคาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากราคาอาหารสดที่ผันผวนสูง ตามสภาพภูมิอากาศและปริมาณผลผลิต ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีตแม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เต็มตามศักยภาพ เนื่องจากมีปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้ความสามารถในการปรับราคาเปลี่ยนแปลงไป อาทิ การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันทางด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง

"คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างในตลาดแรงงาน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าผลดีจากการขยายตัวของเศรษฐกิจส่งผ่านมาสู่ ตลาดแรงงานมากขึ้น สะท้อนจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับตัวได้ทั่วถึงขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรทรงตัวในระดับสูง แต่ค่าจ้างเฉลี่ยยังไม่เพิ่มขึ้นชัดเจนนัก" รายงาน กนง.ระบุ

นอกจากนี้ การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (automation) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ค่าจ้างปรับเพิ่มไม่มากโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อย ในขณะเดียวกันภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยถ่วงกำลังซื้อ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลต่อความเข้มแข็งของกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะต่อไป

สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวต่อเนื่องในเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีวงเงินค่อนข้างสูง และสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยโดยรวมยังเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้เร่งตัวมาก ขณะที่ธนาคารพาณิชย์แข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรับความเสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ควรต้องติดตามข้อมูลอื่นประกอบเพื่อประเมินภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ เช่น ข้อมูลการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย รวมถึงความเสี่ยงของภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่และอาคารชุดเก่า คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดอย่างใกล้ชิด

ด้านพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ยังคงมีต่อเนื่องในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งกรรมการส่วนหนึ่งได้อภิปรายถึงความจำเป็นของมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อดูแลและป้องกันความเสี่ยงบางประเภทที่ไม่อาจแก้ไขได้เองตามกลไกตลาด เช่น การขยายตัวในสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ ภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs และครัวเรือน

"คณะกรรมการฯ เห็นว่าในบริบทที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน และการกำกับดูแลภาคการเงินมีความเข้มงวดที่แตกต่างกัน การพึ่งพามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential measures) เพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ นโยบายการเงินจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่อไม่ให้เป็นตัวเร่งสะสมความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน" รายงาน กนง.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ