นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนกรกฎาคม 2561 พบว่าเพิ่มขึ้น 6.38% จากเดือนกรกฎาคม 2560 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนกรกฎาคม 2561 ลดลง 0.93% จากเดือนกรกฎาคม 2560 สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณยางออกสู่ตลาดมากอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะการส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก, สับปะรด ราคาลดลงเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดต่อเนื่อง และไก่เนื้อ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการบริโภคที่เริ่มมีมาก
สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิตหัวมันสำปะหลังออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงแป้งและลานมัน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในช่วงผลผลิตฤดูใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด, ลำไย ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดภายในประเทศยังคงมากกว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาด, ไข่ไก่ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งใกล้เคียงกับความต้องการบริโภคไข่ไก่ที่เริ่มมีมาก
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนกรกฎาคม 2561 เพิ่มขึ้น 7.37% จากเดือนกรกฎาคม 2560 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า, ยางพารา, มันสำปะหลัง, สับปะรด, ปาล์มน้ำมัน, ไก่เนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ ลำไย, มังคุด, เงาะโรงเรียน และสุกร
เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า หากมองถึงแนวโน้มดัชนีรายได้ ราคา และผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2561 พบว่า แนวโน้มรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนสิงหาคม 2561 เพิ่มขึ้น 5.67% จากเดือนสิงหาคม 2560 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.54% โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ปาล์มน้ำมัน, ไก่เนื้อ, ไข่ไก่ และลำไย ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง 3.54% สินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ สับปะรด, มังคุด, ปาล์มน้ำมัน, สุกร, ไก่เนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม
พร้อมคาดการณ์ว่า ในเดือนกันยายน 2561 ดัชนีรายได้เกษตรกรจะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีราคาคาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2560 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ยางพารา, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, เงาะโรงเรียน, สุกร และไข่ไก่