ATTM หนุน Startup ใช้นวัตกรรมดิจิทัลเชื่อมโยงข้อมูลท่องเที่ยวรองรับ Traveltech, วอนภาครัฐช่วยเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 23, 2018 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย (ATTM) เปิดเผยภายหลังการเซ็น MOU เพื่อพัฒนาวงการท่องเที่ยวไทย ทั้งหมด 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.การเซ็น MOU ของภาคีเครือข่ายสมาคมท่องเที่ยว 5 สมาคม ได้แก่ สมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว (สธทท.)

2. การเซ็น MOU ระหว่างสมาคม ATTM กับสมาคม Thai IoT และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) 3. การเซ็น MOU ระหว่างสมาคม ATTM และ Traveltech Startup 20 บริษัท

นายกิตติ กล่าวว่า เราอยากจะพัฒนาการท่องเที่ยวให้ใช้เทคโนโลยีได้อย่างแท้จริง จึงนำ Startup เรานี้มาโชว์แพลตฟอร์มของแต่ละเจ้า พาผู้ประกอบการท่องเที่ยวมา Connect กับผู้ประกอบการเทคโนโลยี ขณะเดียวกันให้ตัวแทนของสมาคม Thai IoT ซึ่งมีเทคโนโลยี และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) มาฟังว่าคนในวงการท่องเที่ยวต้องการอะไร อยากได้อะไรแล้วพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มร่วมกัน จึงนำมาสู่การเซ็น MOU กันในวันนี้

"การเซ็น MOU กันวันนี้เพื่อพัฒนาเชื่อมโยงและยกระดับผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยให้ก้าวสู่ยุค Tourism 4.0 แบบบูรณาการ โดยใช้นวัตกรรมดิจิทัลทั้งด้านการบริหาร การบริการและการตลาด และช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ Traveltech ของไทยให้มีศักยภาพในระดับโลก โดยสมาคม ATTM จะสนับสนุนทั้งด้านความรู้ ประสบการณ์ พันธมิตรทางธุรกิจและทุนทรัพย์ให้กับทั้งผู้ประกอบการท่องเที่ยวและ Startup ต่างๆ ต่อไป"นายกิตติ กล่าว

นายกิตติ กล่าวว่า Starup ที่ Connect กันอยู่ในกลุ่มตอนนี้มีประมาณ 50 ราย แต่ในวงการท่องเที่ยวสามารถมี Startup ได้ประมาณร้อยเรื่อง ซึ่งตอนนี้กำลังร่างโรดแมพของการท่องเที่ยวว่าจะต้องมีอะไรบ้าง เมื่อโรดแมพเสร็จก็มาดูว่าอะไรที่ยังขาดเราก็ส่งเสริม อะไรที่ซ้อนๆกันอยู่ก็เอามารวมกัน อะไรที่ทำแล้วมีแววแต่ยังไม่ตอบโจทย์ก็เอามาต่อเอามาเติมให้ ทำให้เห็นว่าระบบ Eco System ของธุรกิจท่องเที่ยวมีอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความสะดวกในการเชื่อมโยงข้อมูล

สำหรับ Traveltech Startup ด้านท่องเที่ยว อาทิ Hiso Bus ผู้ให้บริการเช่ารถบัสออนไลน์, Via Bus แอปพลิเคชัน เช็คตำแหน่งรถเมล์, We Chef แพลตฟอร์มด้านอาหาร, Rent Connect เอพพลิเคชั่นที่รวบรวมรถเช่าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า, Doctor A to Z แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์คนไข้ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามารักษาในประเทศไทย รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะ ซึ่งระบบของ Doctor A to Z จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดหาแพทย์ โรงพยาบาล ตลอดจนจัดการเรื่องการเดินทาง โรงแรมที่พักให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามารักษาในประเทศไทยรวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยจากเดิมที่ต้องติดต่อกับเอเจนซีเป็นหลัก และอาจไม่ทราบค่ารักษาที่แท้จริง, Remote-Care แพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมอุปกรณ์ สำหรับมอนิเตอร์สุขภาพผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านตามลำพัง ให้สามารถแจ้งเตือนได้เมื่อมีอุบัติเหตุ หรือปัญหาสุขภาพแบบปัจจุบันทันด่วน

"เนื่องจากการท่องเที่ยวกำลังจะเปลี่ยนโฉมไปสู่ Tourism 4.0 จึงมีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อให้ทันกับยุคสมัยและโลกที่กำลังเปลี่ยนไป การพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ มาใช้จะทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการดำเนินการ ช่วยให้นักท่องเที่ยวสะดวกในการวางแผนท่องเที่ยว...น่าจะร่นระยะเวลาให้นักท่องเที่ยวได้เป็น 10 เท่า"

นายกิตติ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดที่ทำเราจะเน้นไปทั้ง 2 ตลาด แต่ช่วงแรกจะเน้นที่ไทยเที่ยวไทยก่อน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล

สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวปีนี้ เป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 37-38 ล้านคนน่าจะทำได้แน่นอน ไทยเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท ต่างชาติเที่ยวไทย 2 ล้านล้านบาท ถ้าไม่มีเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตอาจจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนโตได้มากกว่านี้ เพราะเดือน ก.พ.60 เทียบกับ ก.พ.61 จากเดิมอยู่ที่ 9 ล้านคน ตอนนี้ 12.3 ล้านคน ซึ่งถ้าไม่มีเหตุเรือล่มอาจจะแตะ 15 ล้านคนแล้ว

"การท่องเที่ยวไทยตัวเลขอาจจะดี แต่พอไปคุยกับผู้ประกอบการพบว่า ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น อีกด้านนึงก็ช่วย Startup ที่ประสบปัญหาพัฒนาแพลตฟอร์มมาแล้วแต่ไม่มีคนใช้...Starup เหล่านี้เก่งมากแต่ยังประสบปัญหาเงินทุน, ขาด Connection, ออกแบบระบบออกมาไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า...การพรีเซนต์แพลตฟอร์มของ Startup ในวันนี้ถือเป็นการส่งต่อผ่าน Depa ไปถึงภาครัฐด้วย"นายกิตติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

สำหรับสิ่งที่อยากเสนอแนะภาครัฐให้ช่วยเหลือนอกจากมาตรการภาษี คือ ช่วยเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับ Startup หรือบริษัทหรือโรงแรมที่ต้องการ Rennovate เพราะส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

"สิ่งที่แย่ที่สุดของวงการคือเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เพราะสถาบันการเงินมองว่าธุรกิจท่องเที่ยวจับต้องไม่ได้...อยากให้มองว่าถ้ามี Project ที่ดี ใช้ระบบที่ดี มีตลาดที่ชัดเจนมานำเสนอแล้วอนุมัติเงินกู้ Startup เหล่านี้ก็อยู่ได้แล้ว"นายกิตติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ