สนข.สรุปผลศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เสนอใช้ PPP -ทางด่วน 3 สายเหนือ ลงทุนราว 8 หมื่นลบ. บนแนวสายทางเดียวกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 23, 2018 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (การสรุปผลการศึกษาโครงการ) การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ว่า ที่ปรึกษาได้สรุปผลการศึกษา ในแนวเส้นทางจะมีพัฒนาทั้งระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และทางพิเศษ (ทางด่วน) บนแนวสายทางเดียวกัน ทำให้มีทั้งรถไฟฟ้าสีน้ำตาลนั้นและระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 & EW และส่วนต่อขยายทดแทนตอน N1 ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์เสาตอม่อบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร – นวมินทร์) โดยหลังจากนี้จะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการโครงการต่อไป

โดยคจร. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีมติเห็นชอบรูปแบบการพัฒนาทั้งระบบรถไฟฟ้าและทางด่วนตามที่ สนข. เสนอ ซึ่งประกอบด้วยระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ส่วนเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก และส่วนทดแทน N1 เนื่องจากแนวถนนรัตนาธิเบศร์ งามวงศ์วาน และประเสริฐมนูกิจ เป็นแนวเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันตกกับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอก เฉพาะระบบรถไฟฟ้าจึงไม่เพียงพอสำหรับรองรับการเดินทางอื่นๆ

รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและระบบคมนาคมในระยะยาว เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการคมนาคมขนส่งที่เหมาะสมและใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ที่มีการก่อสร้างเสาตอม่อเตรียมไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร – นวมินทร์) ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลโดยใช้เสาตอม่อดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ และมอบหมายให้ สนข. ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยศึกษาความเหมาะสมทั้งในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมครบทุกมิติ

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) เริ่มต้นจากแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านจุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา – อาจณรงค์) จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ แล้วเลี้ยวขวาลงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ ไปสิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง รวมระยะทางประมาณ 22.3 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี

ทั้งนี้ ที่ปรึกษา เสนอรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมเบื้องต้น คือ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย - มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว - สำโรง) แต่รายละเอียดต้องขึ้นกับรฟม.เป็นผู้พิจารณาศึกษาอีกครั้ง

โดยจะมีการเวนคืน บริเวณ แคราย,บางเขน,แยกเกษตร ซึ่งมีทางเท้าแคบ 1.50 เมตร จำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ มหาวิทยาลัยเกษตร เพื่อวางเสารถไฟฟ้า , จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช ,นวมินทร์,แยกลำสาลี มีศูนย์ซ่อมบำรุง ใช้พื้นที่ประมาณ 44 ไร่ ประกอบด้วยอาคารโรงจอด ศูนย์ซ่อมบำรุง อาคารเปลี่ยนล้อ ส่วนควบคุมระบบการเดินรถ และสำนักงานบริหารโครงการ และมีอาคารจอดแล้วจร บริเวณถนนเสรีไทย ใกล้สถานีลำสาลี พื้นที่ 7 ไร่ จอดรถได้ 2,000 คัน

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย ดังนี้ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพู สถานีบางเขนเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีแยกเกษตรเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีฉลองรัชเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเทา และสถานีลำสาลีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีส้ม โดยจะมีการก่อสร้างอาคารจอดแล้วจรที่แยกบางกะปิ เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน โดยคาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสาร 218,000 เที่ยวคน/วัน และจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่เชื่อมต่อ รวม 230,000 เที่ยวคน/วัน

ส่วนระบบทางด่วน จะเป็นการต่อขยายแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อทางยกระดับอุตราภิมุข – ทางพิเศษศรีรัช – ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกที่ต่างระดับรัชวิภา เพื่อเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบทางพิเศษระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร โดยแนวโครงการจะมีเริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกมาตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแนวคลองบางบัว คลองบางเขน แล้วเลียบขนานไปตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต จนถึงทางแยกต่างระดับรัชวิภา รวมระยะทางประมาณ 17.2 กิโลเมตร ต้องเวนคืนบริเวณโค้งบางบัว ถนนพหลโยธินและถนนประเสริฐมนูกิจ

รถไฟฟ้าสีน้ำตาล วงเงินลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาทเศษ มอบหมายให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ 22.3 %ในขณะที่ทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงินลงทุนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ให้ผลตอบแทน 38.9 %

ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการจะเน้นให้ออกแบบให้มีประโยชน์สูงสุดและส่งผลกระทบต่อประชาชนในระหว่างก่อสร้างกระทบน้อยที่สุด เนื่องจาก 2 โครงการมีโครงสร้างซ้อนในแนวเส้นทางเดียวกัน จึงต้องวางแผนการบริหารทั้งระบบทางด่วนและรถไฟฟ้าให้ก่อสร้างส่วนของฐานรากพร้อมกัน โดยคาดว่าระบบทางด่วนจะเปิดใช้บริการได้ ในปี 2567 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2568


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ