(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.ระบุ ศก.โตกระจายตัวมากขึ้นคาด H2/61 ฟื้นชัดเจน แต่ยังเสี่ยงสงครามการค้า-ค่าเงินสกุลหลักผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 23, 2018 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้น โดยการบริโภค การจ้างงาน และสินเชื่อโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นชัดเจนขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า ที่คาดว่าจะมีผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ในช่วงปลายปีนี้หรือปีหน้า และจากความผันผวนของค่าเงินสกุลหลัก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ปัจจัยด้านต่างประเทศ ในเรื่องของมาตรการกีดกันและตอบโต้ทางการค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมองว่าสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า น่าจะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ หรือปีหน้าเป็นต้นไป

2.ปัจจัยเรื่องความผันผวนของค่าเงินสกุลหลัก อันเนื่องมาจากทิศทางความไม่แน่นอนของนโยบายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 3.ปัจจัยในประเทศด้านการท่องเที่ยว โดยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งต้องติดตามการลงทุนของภาคเอกชนด้วย เพราะหากมีความไม่แน่นอนสูง จะทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนได้

ผู้ว่า ธปท.ยังแสดงความกังวลต่อการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพราะแม้คุณภาพของสินเชื่อในภาพรวมจะดีขึ้น แต่ในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถาบันการเงินมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว โดยจะเห็นได้จากการให้สินเชื่อในวงเงินที่สูงเมื่อเทียบกับมูลค่าของที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่การให้สินเชื่อในวงเงินที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้หรือความสามารถในการชำระคืนของผู้กู้ เป็นต้น

นอกจากนี้ พบว่าที่อยู่อาศัยบางประเภทยังมีอุปทานส่วนเกิน เนื่องจากมีการคาดการณ์ไปล่วงหน้าว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะปรับสูงขึ้น จึงทำให้มีการซื้อเพื่อลงทุนหวังเก็งกำไร หรือการซื้อเพื่อนำไปปล่อยให้เช่าต่อ แต่เนื่องจากอุปทานส่วนเกินสูง จึงไม่ได้ราคาตามที่คาดหวังไว้ ส่งผลให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในภาคอสังหาริมทรัพย์ตามมา ซึ่งทำให้ ธปท.จะต้องติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด

"ที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือจำนวนอุปทานของที่อยู่อาศัยที่ออกมาใหม่ จะเห็นว่าที่อยู่อาศัยบางประเภทมีอุปทานส่วนเกินอยู่ และบางช่วงเวลาที่ประชาชนคาดหวังว่าราคาจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงไปซื้อเพื่อการลงทุน หรือให้เช่าต่อ แล้วไม่ได้ค่าเช่าตามที่ตั้งใจไว้ เพราะมีอุปทานที่ออกมามาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่มี Loan to Value สูงๆ หรือการปล่อยสินเชื่อแบบที่รับความเสี่ยงสูงๆ นี่คือปัจจัยเสี่ยงที่ กนง.ให้ติดตามต่อเนื่อง" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

อย่างไรก็ดี ธปท.ได้มีการกำชับไปยังธนาคารพาณิชย์ให้พิจารณาอย่างใกล้ชิดในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงในลักษณะดังกล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องผลกระทบต่อการส่งออกไทยจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้านั้น นายวิรไท กล่าวว่า ผลกระทบน่าจะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ปลายปีนี้หรือปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนผลกระทบที่เริ่มเห็นบ้างแล้ว คือ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ส่งผลกระทบต่อสินค้าประเภทแผงโซลาร์เซลล์ และเครื่องซักผ้าที่มียอดการส่งออกลดลง

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงการทยอยปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ด้วยว่า มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมทางการเงินของประชาชนต่างเปลี่ยนแปลงไป โดยจะพบว่ามีการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแบงก์กิ้งมากขึ้น ในขณะที่การทำธุรกรรมผ่านตู้ ATM หรือสาขาของธนาคารมีปริมาณที่ลดลง ซึ่งถือเรื่องปกติในภาวะที่เข้าสู่การเติบโตของเทคโนโลยีทางการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ