(เพิ่มเติม1) "สมคิด" ดัน EEC เชื่อม" Belt and Road" สร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 24, 2018 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการกล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายในงานสัมมนา"Thailand-China Business Forum 2018:Comprehensive Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC"ว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของไทยเพื่อเชื่อมโยงกับนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน เช่น การลงทุนในโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งได้มีการหารือกันระหว่าง 2 ประเทศอย่างละเอียดแล้ว จะคาดว่าการดำเนินโครงการจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนโครงการรถไฟเชื่อมจีน – ลาว – ไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประมูลการก่อสร้าง นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังเร่งรัดการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ปัจจุบันได้มีความคืบหน้าไปทุกด้าน โดยในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC มีจำนวน 822 โครงการ คิดเป็นมูลค่าราว 7 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนถึง 47% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั้งหมด โดยในจำนวนนี้เป็นการขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยนักลงทุนจีนสูงถึง 6 หมื่นล้านบาทในช่วงระยะเวลาเพียง 2 ปี

นอกจากนี้นักลงทุนจีนยังมีศักยภาพและความสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ที่ไทยต้องการส่งเสริม และคาดว่า EEC จะเป็นพื้นที่สำคัญที่จะรองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้ เนื่องจากความพร้อมในด้านต่างๆ นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศูนย์กลางในการบ่มเพาะนวัตกรรม และสตาร์ท อัพ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แห่งอนาคต

"มั่นใจว่า ไทยและจีนจะร่วมกันสร้างเครือข่ายทางการค้าการลงทุน ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และขอให้มั่นใจว่าแม้ไทยจะเป็นประเทศเล็ก แต่ไทยก็มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นชาติหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าให้กับเอเชีย" นายสมคิด กล่าว

สำหรับในวันนี้ มีบริษัทจากจีนให้ความสนใจเข้าร่วมคณะมากกว่า 400 ราย ที่ให้ความสนใจมาศึกษาลู่ทางการลงทุนในประเทศซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

"หลังจากที่จีนแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้สำเร็จ จนสร้างชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งจุดนี้เองจะถือเป็นอำนาจซื้อใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของโลก นอกจากนี้จีนยังยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างรูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ นับเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจให้กับโลกอย่างใหญ่หลวง" นายสมคิดกล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประเทศไทยทั้งในเชิงของความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และในเชิงของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น ขณะนี้สถานการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว บ้านเมืองกลับมาสู่ความสงบเรียบร้อย เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันถือได้ว่าเศรษฐกิจไทยก้าวข้ามการถดถอยไปแล้วและเข้าสู่การฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้การบริโภคและการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยวและการส่งออกยังเติบโตได้ดี แม้จะเผชิญกับปัญหาสงครามการค้าอยู่บ้างก็ตาม ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและถือว่าเข้มแข็งพอที่จะทนกับแรงเสียดทานต่อความผันผวนทางการเงินโลกได้

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญขณะนี้คือความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้นระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ACMECS) เนื่องจากล่าสุดที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำในกลุ่มดังกล่าว ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมกันเป็นครั้งแรก ซึ่งกลุ่ม ACMECS นี้ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญทางเศรษฐกิจเนื่องจากมีประชากรรวมกันมากกว่า 200 ล้านคน การเติบโตของเศรษฐกิจแต่ละประเทศเฉลี่ยอยู่ในระดับ 7-8% ต่อปี อีกทั้งจำนวนชนชั้นกลางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนับว่าเป็น supply chain ที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย

ทั้งนี้ ไทยพร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่ม ACMECS กับประเทศจีน และต้องการเชิญชวนให้จีนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการลงทุนพัฒนาภูมิภาคนี้ร่วมกัน เพราะกลุ่มประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม หรือ CLMV นี้ถือเป็นหัวใจทีสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค

นายสมคิด กล่าวว่า การลงทุนของจีนในปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิมเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีนรวมทั้งความกระตือรือร้นของประเทศต่างๆในเอเชียในการสร้างความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างกันการลงทุนจากจีนจึงมีมิติในการสร้างความเข้มแข็งโดยรวมของภูมิภาคด้วย และนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ของประเทศจีนได้กลายเป็นพลังสำคัญที่ทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนกลายเป็นทำเลอันเป็นยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงภูมิภาคสำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในกลางของภูมิภาคอาเซียนรัฐบาลไทยจึงเห็นว่าสถานการณ์ในวันนี้เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการขยายการลงทุนของจีนในประเทศไทย

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างไทยและจีนเป็นอย่างมาก นโยบาย Belt and Road ของจีน และนโยบายการสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนผ่านโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยเป็นนโยบายที่สอดคล้องกันและจะช่วยส่งเสริมให้นโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและภูมิภาคสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดียิ่ง

"วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งที่รัฐบาลไทยจะได้มีโอกาสแนะนำนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุนของไทยกับจีนคณะนักธุรกิจจีนจะได้รับทราบข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการเชื่อมไทยกับภูมิภาคเอเชียและจีนภายใต้โครงการ อีอีซี"

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลกำลังจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ แก่นักลงทุนให้รวดเร็วและทันท่วงทีซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ขณะที่นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า นักลงทุนจีนถือเป็นนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายสำคัญ โดยบีโอไอมีสำนักงานในจีนถึง 3 แห่งเพื่อเข้าถึงนักธุรกิจจีนทุกพื้นที่และจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงครึ่งปีแรก 2561 (ม.ค.59 – มิ.ย.61) โครงการลงทุนจีนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่ากว่า 56,000 ล้านบาท และในปีนี้ บีโอไอได้จัดกิจกรรมเดินสายชักจูงการลงทุนในประเทศจีนไปแล้ว 7 ครั้งทั้งระดับรองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ และระดับผู้บริหารบีโอไอเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งก็ได้มีการจัดสัมมนาใหญ่เพื่อนำเสนอนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการพบปะหารือรายบริษัทกับนักลงทุนชั้นนำของจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ