นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสายเศรษฐกิจของไทย จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างนักธุรกิจผู้ซื้อผู้นำเข้าและนักลงทุนระดับชั้นนำจากไทยและจีน เนื่องในโอกาสที่ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ และคณะผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2561
โดยกิจกรรมจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมคู่ขนานการประชุมดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก องค์กรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Council for The Promotion of International Trade) หรือ CCPIT, สำนักงานส่งเสริมการค้าในประเทศจีน, Bank of China, ธนาคารกรุงเทพ และธนาคาร ICBC ที่ได้ผนึกกำลังนำนักธุรกิจชั้นนำทั่วประเทศจีนเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนาน ตลอดจนกิจกรรมจับคู่และสร้างพันธมิตรธุรกิจด้านการค้าการลงทุนในครั้งนี้รวมกว่า 400 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจ อาหาร เกษตรและเกษตรแปรรูป พลังงาน ธุรกิจก่อสร้าง โลจิสติกส์ ฟินเทค อากาศยาน นวัตกรรม อิเล็กทรอนิกส์ อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ และมีนักธุรกิจไทยเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและพันธมิตรการค้าเกือบ 300 ราย คาดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นให้สามารถบรรลุเป้ามูลค่าการค้า 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 ได้อย่างแน่นอน
"กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่จะผลักดันและขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นในอนาคต จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย และเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้บรรลุเป้าหมาย 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นร่วมกับท่านหวังหย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกรมมีแผนรองรับเพื่อเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก เน้นขยายความร่วมมือการค้า การลงทุน สร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ (Strategic Partnership) ใช้การตลาดนำการผลิต (Demand Driven Market Approach) สู่เมืองต่างๆ ของจีนไม่ว่าจะเป็นเมืองหลัก เมืองรอง ตามหัวเมืองต่างๆของจีนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยมุ่งขยายความสัมพันธ์กับเมืองท่าสำคัญๆ ต่างๆ อย่างเช่น ชิงต่าว เซี่ยเหมิน การเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์การค้าของไทยกับเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BIR) ของจีน สู่เมืองพื้นที่ด้านในของจีนอย่างเช่น เฉิงตู ฉงชิ่ง กุ้ยหยาง ซีอาน หลานโจว เพื่อเชื่อมต่อไปยังจีนด้านในและเอเชียกลาง" นางจันทิรา กล่าว
พร้อมนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้เร่งรัดขยายตลาดสินค้าและบริการไทยผ่านช่องทางการค้าสมัยใหม่ด้วย เช่น E commerce รวมถึงการผลักดันความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบข้อมูลและการติดตาม (Logistics) และศักยภาพของกำลังคน (Digital Talent) ซึ่งจะสามารถส่งเสริมการค้าทั้งทางช่องทาง Online และ Offline (OMNI channel) ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดจีน โดยจีนสามารถใช้ไทยเป็น Digital Hub ทางการค้าในอาเซียนด้วยเช่นกัน พร้อมตอกย้ำความมั่นใจกลยุทธ์และแผนจะทำให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าดังกล่าวแน่นอน
สำหรับมูลค่าการค้าไทยและจีน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 การค้าทั้งสองฝ่ายมีมูลค่ามากกว่า 73,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12% สินค้าสำคัญได้แก่ สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ยกระดับและกระชับความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยมอบคณะทำงานร่วมไทย-จีน ด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไปหารือถึงการยกระดับความร่วมมือและกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันให้กว้างและครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ของทุกหน่วยงานมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะให้มีการลงนามกรอบความร่วมมือที่ยกระดับนี้ในอนาคตอันใกล้ พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งการค้า การลงทุน การเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว การเงิน ดิจิทัล รวมถึงความเชื่อมโยงด้านยุทธศาสตร์ และการสอดประสานด้านนโยบายที่ไทยกำลังมุ่งสู่การเป็น Thailand 4.0 กับ "ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีน ที่สามารถเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้
ทั้งนี้ จากการปฏิรูปเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งสองฝ่ายจึงเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการขยายการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน จึงเห็นพ้องการตั้งเป้าหมายการค้าที่ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 จากปัจจุบันอยู่ที่ 73,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารรวม 6 ฉบับ ได้แก่ 1) เอกสารผลลัพธ์การประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 แสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน 2) MOU จัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรคระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับจีน เพื่อประสานการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน 3) พิธีสารหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกันและสุขอนามัย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนไทยสามารถส่งออกสินค้าสัตว์ปีกไปยังจีนได้มากขึ้น 4) MOU ส่งเสริมการลงทุนระหว่างไทยและจีน ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การลงทุนระหว่างกัน 5) MOU ระหว่าง EEC กับกระทรวงพาณิชย์จีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และ 6) MOU ความร่วมมือด้านอวกาศ เช่น โครงการส่งนักวิจัยไทยขึ้นไปวิจัยและทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติเทียนกง การพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศร่วมกัน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดาวเทียมของจีนมาใช้ในการพัฒนาด้านการเกษตรของไทย
ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 15 และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 73,670.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 11.9% และในช่วงเดือนแรกของปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 45,710.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 11.6% โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น