ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนก.ค.61 พบว่า ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน ก.ค.61 ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ 11.31 ล้านล้านบาท หลังจากที่ขยายตัวในอัตราเร่งสูงสุดในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนและสิ้นปีก่อน สินเชื่อยังเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 5.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเร่งตัวขึ้น 2.30% เมื่อเทียบกับปลายปีก่อน
โดยสินเชื่อที่ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งในเดือนนี้ คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่เนื่องจากมีการชำระคืนสินเชื่อภาคธุรกิจจำนวนมากในธนาคารขนาดใหญ่และกลาง ประกอบกับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตที่ค่อนข้างทรงตัว ทำให้ภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในเดือนนี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน
สำหรับภาพรวมเงินฝากเดือน ก.ค.61 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 2.66 หมื่นล้านบาท หรือ 0.22% เป็น 12.30 ล้านล้านบาท ทำให้อัตราเพิ่มจากระยะเดียวกันปีก่อนและสิ้นปีก่อนปรับตัวลงมาที่ 5.41% และ 1.64% ตามลำดับ โดยการลดลงของเงินฝากในเดือนนี้ เกิดจากเงินฝากประจำของภาคธุรกิจในธนาคารขนาดใหญ่และกลางบางแห่ง ซึ่งเป็นเงินฝากที่มีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายสูง ขณะที่ธนาคารอื่นยังมีเงินฝากเพิ่มขึ้น โดยในเดือนนี้มีธนาคารขนาดใหญ่และเล็กออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษรวม 3 ธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการออกเพื่อชดเชยเงินฝากเดิมที่ครบกำหนด และยังไม่มีสัญญาณการแข่งขันด้านราคา แต่ระยะเวลาการฝากยาวนานขึ้นเป็น 1-2 ปี จากเดิมที่ไม่เกิน 1 ปี นอกจากนี้ แคมเปญใหม่ส่วนหนึ่งยังเน้นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และให้ข้อเสนออัตราดอกเบี้ยเพิ่มพิเศษแก่ลูกค้าที่ถือผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและกองทุนรวม
ส่วนภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารตึงตัวขึ้นไม่มาก แม้ว่าภาพรวมเงินฝากจะลดลงก็ตาม เนื่องจากระบบธนาคารยังมีแหล่งทุนจากตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สินเชื่อทรงตัว ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากที่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ขยับขึ้นเป็น 87.23% จากระดับ 87.02% ในเดือนก่อนหน้า และสอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ชะลอลงเล็กน้อยมาที่ 20.95% จากระดับ 20.98% ในเดือนก่อนหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มสินเชื่อในระยะที่เหลือของปี 2561 คาดว่าจะสามารถเติบโตต่อเนื่องตามแรงดึงของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ และแรงผลักจากธนาคารเพื่อให้บรรลุเป้าสินเชื่อที่ตั้งไว้และชดเชยรายได้จากค่าธรรมเนียมเงินโอนที่ลดลง แต่ด้วยผลของฐาน คงทำให้ภาพรวมสินเชื่ออาจเติบโตที่กรอบ 4.8-5.3% เมื่อเข้าหาช่วงสิ้นปี โดยมีสินเชื่อภาคธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยที่มีพอร์ตขนาดใหญ่ ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นตัวนำ แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.61 จะเริ่มบังคับใช้สัญญาเช่าซื้อใหม่ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าคงมีผลกระทบต่อการให้สินเชื่อในวงจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดีมานด์ของตลาดรถในประเทศยังรักษาโมเมนตัมได้ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกหลักที่จะช่วยหนุนการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่สัญญาเช่าซื้อใหม่คงส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการให้เช่าซื้อบ้าง แต่เชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้
สำหรับแนวโน้มเงินฝาก และการระดมทุนในรูปแบบตราสารหนี้และเงินกู้ยืมในช่วงที่เหลือของปี คงโน้มเอียงไปในประเภทที่มีระยะเวลานานขึ้น แต่แรงกดดันด้านราคาน่าจะอยู่ในกรอบจำกัด เนื่องจากทุกธนาคารยังจำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุนการเงินให้สอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้ นอกจากนี้ การพัฒนาช่องทางบริการบนโทรศัพท์มือถือ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้นในหลากหลายธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันจะมีส่วนช่วยเพิ่มระดับการออม โดยเฉพาะเพื่อรองรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีกทั้งผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับการออมประเภทอื่นที่อาจมีความเสี่ยงหรือข้อจำกัดด้านสภาพคล่องมากกว่า