รัฐ-เอกชน เตรียมพร้อมรับมือพลังงานไทยยุคใหม่ หนุนเก็บ Backup rate โซลาร์สร้างความเป็นธรรมผู้ใช้ไฟ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 27, 2018 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลและเอกชนพร้อมรับมือพลังงานไทย"ยุค Disruptive Technology" โดยหน่วยงานภาครัฐเตรียมออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลด้านพลังงานรองรับเทคโนโลยีและการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเวลานี้ ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะยังคงมีบทบาทดูแลความมั่นคงของระบบเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า (grid) ให้มีความพร้อมต่อไป เพราะแม้ปัจจุบันภาคเอกชนจะหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นแต่ก็ยังคงต้องมีส่วนที่พึ่งพิงระบบไฟฟ้าของประเทศอยู่เพื่อความเสถียรภาพของการใช้ไฟฟ้า ด้านเอกชนพร้อมหนุนรัฐเก็บค่าบริการระบบสำรองไฟฟ้า (Backup rate) สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวในการเปิดเสวนาวิชาการ เรื่อง "โฉมหน้าพลังงานไทย :ยุค Disruptive Technology" จัดโดยชมรมวิทยาการพลังงาน (ชวพน.) และชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ (ชวพม.) ว่า ระบบพลังงานของประเทศมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทุกแง่มุม ไปสู่ระบบของ Digitalization รวมถึงการนำ Industrial Internet of Thing (IIoT) เข้ามาประยุกต์ใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งเป็นก้าวแรกในอันดับต้น ๆ ของธุรกิจพลังงานเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็น Smart Energy System ที่มีประสิทธิภาพสูง จนทำให้สามารถมีพลังงานใช้ตามต้องการ อย่างมั่นคงและยั่งยืน ในราคาที่ย่อมเยา

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ทิศทางพลังงานในอนาคตมองว่าบทบาทของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะลดลง และมีโรงไฟฟ้ากระจายตัวไปในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าก็อาจจะพัฒนามาเป็นผู้ซื้อขายไฟฟ้ากันเอง ซึ่งตามช้อมูลของการใช้ไฟฟ้าในระบบ ปัจจุบันพบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้เพิ่มขึ้น ทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศปรับตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ใช้ไฟฟ้าบางส่วนออกจากระบบ Grid อันเนื่องมาจากการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง

อย่างไรก็ตาม ในระบบของ Grid ยังคงต้องมีไว้เพื่อดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในกรณีที่ผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองนั้นไม่ได้ออกจากระบบโดยเด็ดขาด และยังคงต้องพึ่งพิงการใช้ไฟฟ้าของระบบอยู่เช่นดิม ดังนั้น การปรับตัวของ กฟผ.ก็จะต้องยังคงอยู่เพื่อดูแลความมั่นคงของ Grid อยู่ต่อไปเพื่อให้มีความพร้อมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน แต่หากภายในอนาคตเมื่อไม่มีผู้พึ่งพาระบบ Grid แล้วบทบาทชองกฟผ.จะเปลี่ยนไปอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ด้านนางปรียานาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม.เพาเวอร์ (BGRIM) ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมนับว่าเป็นสัดส่วนที่มากราว 47% เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานภาพรวม และปัจจุบันลูกค้าของบริษัท ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยการนำหุ่นยนต์ ,ดิจิทัล หรือเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาใช้ในโรงงาน ท่ามกลางการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจะต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ที่ยังต้องการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับตัวเองและมีเสถียรภาพ ในส่วนนี้นโยบายของภาครัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะต้องมีความชัดเจนและเป็นธรรม ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายมากเกินไป

"อย่างโซลาร์ทำงานแค่วันละ 5 ชั่วโมงในช่วงเวลากลางวัน ทำให้ปริมาณไฟฟ้าของระบบประเทศมีเหลือ สิ่งที่สำคัญในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านอย่างนี้ นโยบายภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และเป็นระบบ และเหมาะสมกับเวลา รวมถึงปฏิบัติได้จริงและมีความเป็นธรรม เพราะถ้าเร่งส่งเสริมพลังงานทดแทนมากเกินไป แต่ energy storage ยังแพงมาก ก็ยังไม่สมดุลกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรกำหนดนโยบายเพื่อไม่ให้มีผลกระทบรุนแรง"นางปรียนาถ กล่าว

นางปรียนาถ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแม้ว่าภาคเอกชนจะหันมาผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) มากขึ้นแต่ภาพรวมก็ยังคงต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้ารวมของประเทศอยู่ เพราะโซลาร์จะผลิตไฟฟ้าได้เพียงวันละประมาณ 5 ชั่วโมง ขณะที่การไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบก็ยังคงต้องมีโรงไฟฟ้าและระบบส่งเพื่อรองรับความต้องการใช้ของภาคเอกชนเหล่านี้เพื่อให้การใช้ไฟฟ้ามีเสถียรภาพต่อเนื่อง ดังนั้น ก็เห็นว่ารัฐบาลควรเก็บค่า Backup rate สำหรับผู้ประกอบการโซลาร์เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยทั่วไป ที่ปัจจุบันต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าตามต้นทุนการดูแลระบบของการไฟฟ้าด้วย แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้นโยบายที่เป็นธรรม

"นโยบายรัฐตอนนี้สำคัญที่สุด และต้องดำเนินการภายใต้กฎเกณฑ์ที่เป็นธรรม อย่างโซลาร์รูฟท็อปปัจจุบันติดกันเต็ม แต่กฎเกณฑ์ยังไม่ออกก็จะเป็นปัญหาในภายหลัง การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปช่วยลดค่าไฟ แต่คนอื่นใช้ไฟฟ้าแพงขึ้น ภาพรวมเราก็ต้องมาชดเชยให้เขาบ้าง"นางปรียนาถ กล่าว

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กิจการไฟฟ้าของของไทยยังคงเป็นระบบ ESB (Enhanced Single Buyer) โดยมีกฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้า และเจ้าของระบบส่ง และส่งไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ แต่ปัจจุบันรูปแบบกำลังเปลี่ยนแปลงไป หลังจากมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) และเริ่มมีตลาดซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันในชุมชน โดยผ่านเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งกกพ.จำเป็นจะต้องออกกฎระเบียบ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ หลังจากนั้นจะออกอัตราค่าบริการพิเศษต่าง ๆ ภายในปี 62 เพื่อให้เกิดโครงสร้างที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า ทิศทางพลังงานโลกเข้าสู่พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Go Green) และพลังงานไฟฟ้า (Go Electricity) ความท้าทายการผลิตไฟฟ้า ซึ่งไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 60% แต่อนาคตก็อาจจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯลดลง

อย่างไรก็ตาม ก๊าซฯก็ยังนับว่ามีความสำคัญต่อประเทศ ขณะที่ปริมาณสำรองก๊าซฯในประเทศมีเพียงพอใช้อีกเพียง 5 ปี แต่หากประเทศยังมีการปริมาณการใช้เท่าปัจจุบัน ทำให้ไทยต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาเพิ่มขึ้นขึ้นจากปัจจุบันนำเข้าอยู่แล้ว 5 ล้านตัน/ปี ซึ่งปตท.ได้มีการเจรจาจัดหา LNG เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยมีการทำสัญญานำเข้า LNG ระยะยาวจากกาตาร์ ,ปิโตรนาส เชลล์และบีพี ซึ่งในอนาคตจำเป็นต้องจัดหาจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม โดยได้เจรจานำเข้าจากแหล่งโมซัมบิก อลาสก้า ปาปัวนิวกินี และบรูไนเองก็สนใจที่จะขายให้ไทยด้วยเช่นกัน

ความท้าทายของไทยคือ แหล่งพลังงานมีศักยภาพน้อย การใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ และแผนบริหารพลังงานยังขาดการสนับสนุนต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลควรจะเข้ามาดูแลเพื่อให้เกิดการสนับสนุนต่อเนื่องและให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มั่นคงและเข้มแข็ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ