(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.ค.61 โต 4.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ตามการส่งออกขยายตัวดี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 28, 2018 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน ก.ค.61 อยู่ที่ 112.60 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.64% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 เนื่องจากการส่งออกของไทยในเดือน ก.ค.61 มีมูลค่า 20,424 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 โดยการส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อินเดีย และอาเซียน ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 61 MPI ขยายตัว 4.0% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.23%

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 62 เดือน

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกในเดือน ก.ค.61 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัว 13.17% จากรถบรรทุกปิคอัพ เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1,800 ซีซี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การกระตุ้นตลาดด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ รวมทั้งการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี การผลิตรถยนต์เดือน ก.ค.61 มีจำนวน 183,119 คัน แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 40% รถยนต์กระบะขนาด 1 ตัน และอนุพันธ์ 58% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 2%

น้ำตาลทราย ขยายตัว 82.26% จากปีนี้มีปริมาณผลผลิตอ้อยจำนวนมาก ทำให้แปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวได้มากขึ้น

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 9.18% จาก PCBA และ other intergrated circuits (IC) ตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 14.24% จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเตาจากการเร่งผลิตตามความต้องการใช้ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ส่วนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากน้ำมันเบนซิน 91 เป็นหลัก มีโรงกลั่นบางรายจะปิดซ่อมบำรุงในเดือนสิงหาคม จึงเร่งผลิตในเดือนก.ค.

ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 9.82% จากยางแท่งเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีน้ำยางออกสู่ตลาดมาก ราคายางจึงปรับตัวลดลง ทำให้ลูกค้าจีนมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 12.76% ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้น 20.46% แต่ในส่วนของการผลิตยางรถยนต์หดตัว เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำลังปรับผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน มอก.ใหม่ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปีนี้

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนหน้าหากดัชนี MPI ยังบวกต่อเนื่องอยู่ อาจจะพิจารณาปรับเพิ่มคาดการณ์​ของปีนี้ จากปัจจุบันที่คาด ​MPI​ ทั้งปีที่​ 2.5-3%

"เดือนต่อไป​เป็นเดือนที่ปีก่อนมีฐานสูง​ ก็จะปรับเคาะตัวเลข​ถ้าตัวเลขยังเป็นบวกได้อยู่ก็คงจะพิจารณาปรับเพิ่มการคาดการณ์ของปีนี้" นายณัฐพล​ กล่าว

สำหรับในเดือนส.ค.นี้มีปัจจัยสำคัญ​ 2 ประเด็นคือ​ 1.ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ​โดยมองว่า มาตรการที่สหรัฐฯ นำมาใช้กับตอนนี้เป็นระลอกที่​ 3 โดยระลอกที่ 1 เป็นเรื่องสินค้าเหล็ก​อลูมิเนียมที่มีการยกระดับมาตรการภาษีขึ้นมาที่​ 25% และ ​10% ตามลำดับ

มาตรการระลอกที่ 2 เมื่อเดือนก.ค.​คือ ​การประกาศยกระดับภาษีขึ้น​ 25% สำหรับสินค้าที่มาจากจีน​ มูลค่าประมาณ​ 5 หมื่นล้าน​เหรียญฯ​ แต่ว่าทำออกมาจริงๆ​ 3-4​ หมื่นล้านเหรียญฯ​ ซึ่งจีนก็ตอบโต้ออกมาทันทีในมูลค่าที่ใกล้เคียงกัน​ ผลคือสหรัฐฯ​ดำเนินการต่อจนครบ​ 5 หมื่นล้านเหรียญฯ​ และจีนก็ตอบโต้ซ้ำอีกในมูลค่าที่เท่ากันอีก

"ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะพิจารณาการนำเข้าในส่วนอื่นๆจากจีนออกมาอีก​ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป"

ส่วนประเด็นที่​ 2 ที่สศอ.วิเคราะห์คือ การเจรจา​ Decree 116​ กับเวียดนามที่ไทยไปร่วมคณะเจรจาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ​เพราะเวียดนามยืนกระต่ายขาเดียวว่าสิ่งที่เวียดนามทำอยู่นั้นสามารถทำได้​

"ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเคยคาดการณ์ตัวเลขส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม​ปีนี้ที่​ 9​ หมื่นกว่าคันแต่ปัจจุบันส่งออกไปได้เพียง​ 1 หมื่นกว่าคัน​เท่านั้น​ เห็นได้ชัดเจนว่ามาตรการกีดกันของเวียดนามนั้นได้ผล​ และยังไม่เห็นแนวโน้มเรื่องนี้จะจบลงด้วยดีหรือเป็นธรรม... ซึ่งการที่เวียดนามลุกขึ้นมาดำเนินการแบบนี้แปล่า​ AEC ไม่มีความหมายสำหรับเวียดนามแล้ว​ ไม่ประสงค์ให้​ AEC เดินหน้าไปในแบบ​Community... ในโต๊ะอาเซียนคงต้องหาทางเจรจา​หรือดำเนินการต่อไป​เพราะถ้าเวียดนามทำได้​ประเทศอื่นๆก็อาจจะทำบ้าง" นายณัฐพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ​ทั้ง​ 2 ประเด็นจะส่งผลกระทบในเดือนส.ค.หรือไม่นั้น​ ต้องดูในระยะยาวโดยเฉพาะมาตรการทางการกีดกันทางการค้าระลอกที่​ 3 ที่สหรัฐฯ​จะนำมาใช้และมาตรการตอบโต้จากจีน

ส่วนมาตรการ​ 116​ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์พยายามจะหาวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนเดินต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ